ระบบกำกับการตรวจสอบวิธีการรักษาเหมาะสมหรือไม่

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: ระบบกำกับการตรวจสอบวิธีการรักษาเหมาะสมหรือไม่

การกำกับงานวิจัยที่เข้มงวดทำให้อุ่นใจ แต่ก่อความลำบากยากเข็ญแก่ผู้ที่ต้องการศึกษาวิธีการรักษาที่ยังขาดการประเมินอย่างมีคุณภาพแทนที่จะปล่อยให้ผู้ป่วยใช้วิธีดังกล่าวในเวชปฏิบัติตามปกติ ในหลายประเทศ ระบบทั้งด้านกฎหมาย หน่วยงาน มาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพ และอื่นๆ ซับซ้อนวุ่นวายและกินเวลา นักวิจัยต้องขออนุมัติซ้ำๆ จากหลายแห่ง บางครั้งจึงประสบปัญหาข้อกำหนดที่ขัดแย้งกัน

โลกในฝัน

“โลกในฝัน เราสามารถเก็บข้อมูลผลการรักษาโดยไม่ระบุตัวตนและเปรียบเทียบกับประวัติการรักษาได้เต็มที่ เว้นแต่ในผู้ที่ห่วงความเป็นส่วนตัวมากกว่าชีวิตผู้อื่น…

อ่านต่อ

นอกจากนี้ โดยรวมระบบนี้ยังอาจกีดกันและขัดขวางการเก็บข้อมูลซึ่งจะช่วยให้การดูแลสุขภาพปลอดภัยขึ้น เช่น แม้การใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพว่าด้วยการเก็บความลับจะเป็นไปด้วยเจตนาดี แต่ก็ทำให้นักวิจัยหืดขึ้นคอในการเก็บข้อมูลทั่วๆ ไป ซึ่งอาจช่วยให้ค้นพบผลข้างเคียงจากวิธีการรักษาได้แม่นยำจากเวชระเบียน[ท] กว่านักวิจัยที่วางแผนทำการทดลองในคนจะได้เริ่มเชิญชวนผู้ป่วยก็ต้องใช้เวลาหลายปีนับจากริเริ่ม อีกทั้งกระทั่งการเชิญชวนให้เข้าร่วมการทดลองก็อาจเชื่องช้าเนื่องจากมาตรการควบคุมต่างๆ แต่ระหว่างที่นักวิจัยฟันฝ่าด่านต่างๆ ผู้คนก็เป็นอันตราย หรือเสียชีวิตแล้วทั้งที่ไม่ควร

จริยธรรมที่ลำเอียง

“ถ้าแพทย์ลองใช้วิธีการรักษาแบบใหม่โดยตั้งใจศึกษาให้ถี่ถ้วน ประเมินผลการรักษา และตีพิมพ์ผลที่ได้ แพทย์รายนั้นกำลังทำวิจัย อาสาสมัครในงานวิจัยเหล่านี้ถูกมองว่าต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ

อ่านต่อ

ในทางปฏิบัติ มาตรการเหล่านี้มีนัยว่า แพทย์สามารถให้ผู้ป่วยใช้วิธีการรักษาที่ยังไม่ได้พิสูจน์ได้ในเวชปฏิบัติ “ทั่วไป” ตราบที่ผู้ป่วยยินยอม แต่ถ้าจะศึกษาเพื่อประเมินวิธีการรักษาเดียวกันนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ แพทย์ต้องเข้ากระบวนการกำกับงานวิจัยอันยืดเยื้อ แพทย์จึงคล้ายถูกกีดกันไม่ให้ประเมินวิธีการรักษาอย่างเที่ยงธรรม แต่กลับสั่งใช้วิธีการรักษานั้นๆ ต่อได้โดยไม่ต้องรับภาระในการคลายความไม่แน่นอนเกี่ยวกับวิธีดังกล่าว (ดูบทที่ 5)

เนื่องจากระบบกำกับงานวิจัยยึดติดแต่เรื่องความเสี่ยงและการคุ้มครองผู้ที่อาจเข้าร่วมงานวิจัย จึงกลายเป็นการปกป้องผู้ป่วยเกินเหตุโดยมองข้ามความเป็นจริงว่าปัจจุบันผู้ป่วยและประชาชนได้ร่วมเป็นคู่คิดในกระบวนการวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ (ดูบทที่ 11) ทว่ายังมีประเด็นที่น่าชื่นใจเรื่องหนึ่ง ปัจจุบันผู้ควบคุมงานวิจัยเริ่มยอมรับว่าการ “ใช้วิธีเดียวกับทุกอย่าง” ในการตรวจสอบจริยธรรมการวิจัยอาจสร้างภาระโดยใช่เหตุ [1] เช่น ในสหราชอาณาจักรกำลังมีการประเมินกระบวนการ “ตรวจสอบตามสัดส่วน” ว่ากระบวนการตรวจสอบที่ง่ายและเร็วขึ้นจะใช้กับการศึกษาที่ไม่มีประเด็นจริยธรรมได้ปลอดภัยหรือไม่

[ท] Medical record เอกสารที่บันทึกการรักษา ซึ่งมีข้อมูลโรค อาการ และวิธีการรักษาที่ผู้ป่วยได้รับ ตามวันเดือนปีที่แพทย์ตรวจอาการผู้ป่วย

ถัดไปข้อมูลและการให้ความยินยอม