การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone marrow transplantation)

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: การปลูกถ่ายไขกระดูก

แต่การลดจำนวนการผ่าตัดอวัยวะ ออกทั้งหมดก็ยังไม่ใช่การปิดฉากแนวคิด “ยิ่งมากยิ่งดี” ในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา มีการใช้แนวทางการรักษามะเร็งเต้านมแบบใหม่ด้วยยาเคมีบำบัดปริมาณมาก ตามด้วย การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ “การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์” (stem cell rescue) รายงานในนิวยอร์กไทม์ส (New York Times) ในปี ค.ศ. 1999 สรุปแนวคิด ของวิธีนี้ว่า

“แพทย์เก็บไขกระดูก หรือเซลล์เม็ดเลือดแดงจากตัวผู้ป่วย แล้วฉีดยาที่เป็นพิษในปริมาณสูงขนาดทำลายไขกระดูกได้ เข้าไปในร่างกายผู้ป่วยรวดเดียว ด้วยหวังว่าจะกำจัดมะเร็งจนหมด และเมื่อนำไขกระดูกที่เก็บไว้ฉีดกลับคืนสู่ร่างกาย ไขกระดูกนั้นจะเจริญกลับมาทันก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อ[ฎ] รูปแบบหนึ่งของกระบวนการนี้ใช้ไขกระดูกที่ผู้อื่นบริจาคให้ ซึ่งยอมรับกันมานานแล้วว่าได้ผลกับมะเร็งเม็ดเลือด เพราะเป็นมะเร็งที่เกิดกับไขกระดูกซึ่งจะถูกทดแทนด้วยไขกระดูกของผู้บริจาค แต่การใช้วิธีการรักษานี้กับมะเร็งเต้านมอยู่บนหลักการที่แตกต่างกันและยังไม่มีการตรวจสอบ”[9]

เฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีหญิงสิ้นหวังหลายพันคนที่เรียกร้องอยาก เข้ารับวิธีการรักษาที่น่ากลัวนี้จากแพทย์และโรงพยาบาล แม้ผู้ป่วย 5 ใน 100 คนจะเสียชีวิตจากวิธีการรักษานี้ ทั้งยังหมดเงินไปหลายพันดอลลาร์สหรัฐฯ โดยผู้ป่วยบางรายต้องจ่ายเอง ในที่สุดผู้ป่วยบางรายก็เบิกค่าใช้จ่ายจากบริษัทประกันสุขภาพ ซึ่งโดนกดดันให้จ่ายแม้จะไม่มีหลักฐานว่า เป็นวิธีการรักษาที่มีประโยชน์ โรงพยาบาลและคลินิกหลายแห่งร่ำรวยจากการนี้ ในปี ค.ศ. 1998 ธุรกิจโรงพยาบาลรายหนึ่งมีเงินได้สูงถึง 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากศูนย์โรคมะเร็งที่ให้บริการปลูกถ่ายไขกระดูก สำหรับแพทย์ในสหรัฐอเมริกาการปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นแหล่งรายได้และชื่อเสียงอย่างงาม ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตงานตีพิมพ์ชั้นดี อุปสงค์ ที่ไม่ขาดสายของผู้ป่วยหนุนเนื่องให้ตลาดเติบโต โรงพยาบาลเอกชนในสหรัฐอเมริกาแข่งขันเรื่องนี้กันดุเดือดโดยการโฆษณาลดราคา ในทศวรรษ 1990 กระทั่งศูนย์การแพทย์เชิงวิชาการในสหรัฐอเมริกาที่ชักชวนผู้ป่วยเข้าร่วมการทดลองทางคลินิกก็ยังเสนอวิธีการรักษานี้ โครงการที่น่ากังขาเหล่านี้ได้กลายเป็น  “แหล่งทำเงิน”  สำหรับหน่วยงานด้านโรคมะเร็ง

ความยากลำบากในการได้หลักฐานที่ไม่มีอคติ

นักวิจัยเคยคาดไว้ว่าจะใช้เวลาราว 3 ปีเชิญหญิง 1,000 คนเข้าร่วมในการศึกษา 2 โครงการ แต่กลับใช้เวลาถึง 7 ปี…ซึ่งไม่น่าแปลกใจ…

อ่านต่อ

การเข้าถึงวิธีการรักษาที่ไม่เคยได้รับการพิสูจน์โดยไม่มีการควบคุม เช่นนี้มีผลเสียร้ายแรงอีกอย่างหนึ่ง คือการมีจำนวนผู้ป่วยไม่พอเข้าร่วมการทดลองที่เปรียบเทียบวิธีการรักษาเหล่านี้กับการรักษามาตรฐาน ส่งผลให้ต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้มากกว่าจะได้คำตอบที่น่าเชื่อถือถึงยากลำบากกว่าจะได้หลักฐานที่ไม่ลำเอียงภายใต้แรงกดดันดังกล่าว แต่ก็ยังมีการทดลองและทบทวนหลักฐานอื่นๆ ในเชิงวิพากษ์อยู่บ้าง กระทั่งปี ค.ศ. 2004 การทบทวนผลการศึกษาโดยรวมของการใช้ยาเคมีบำบัดมาตรฐาน เปรียบเทียบกับการใช้ยาเคมีบำบัดปริมาณมากตามด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งเป็นวิธีการรักษามะเร็งเต้านมที่ใช้กันโดยทั่วไป ไม่พบหลักฐานที่ชวนให้เชื่อเลยว่ามันมีประโยชน์ [10, 11]

[ฎ] หน้าที่ประการหนึ่งของไขกระดูกคือการสร้างเม็ดเลือดขาว ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากไขกระดูกถูกทำลาย หรือไขกระดูกทำงานผิดปกติจะเกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและติดเชื้อง่าย

ถัดไป: กล้าคิดที่จะทำน้อยกว่า