ออกรายงานวิจัยที่ไม่ลำเอียงและเป็นประโยชน์

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: ออกรายงานวิจัยที่ไม่ลำเอียงและเป็นประโยชน์

แม้จะมีการตีพิมพ์การศึกษา แต่บ่อยครั้งที่ขาดข้อมูลสำคัญซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านประเมินการศึกษาและนำผลไปใช้ได้ การนำการทดลอง แบบสุ่ม 519 เรื่องที่ตีพิมพ์ในวารสารชื่อดังต่างๆ ในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2000 มาทบทวน พบว่าร้อยละ 82 ไม่อธิบายกระบวนการปกปิดการจัดสรร  และร้อยละ 52 ไม่กล่าวถึงรายละเอียดวิธีลดความลำเอียงจากผู้สังเกตการณ์ [ม] ซึ่งเป็นสององค์ประกอบที่แนะนำในบทที่ 6 ว่าจำเป็นยิ่งต่อการศึกษาที่มีคุณภาพ [10] กระทั่งการอธิบายวิธีการรักษาที่ใช้ก็ยังขาดรายละเอียด การทดลองที่แสดงว่าการแจกหนังสือ (เทียบกับไม่แจก) เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome) กลับไม่อธิบายเนื้อหาในหนังสือ หรือว่าจะหาหนังสือได้อย่างไร ผู้ ป่วย หรือแพทย์รายอื่นจึงไม่อาจใช้ “วิธีการรักษา” นี้ได้ การทดลองนี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวจากการวิเคราะห์การทดลองในวารสารรายใหญ่ ซึ่งพบว่าราว 1 ใน 3 ไม่รายงานรายละเอียดที่สำคัญเช่นนี้ [11]

สุดท้าย การทดลองที่ตีพิมพ์ส่วนใหญ่ไม่ผสานผลที่พบเข้ากับการทดลองคล้ายคลึงกันซึ่งมีอยู่เดิม ดังที่อธิบายในบทที่ 8 ว่าเมื่อขาดขั้นตอนที่สำคัญนี้ จะไม่มีทางรู้ได้ว่าผลที่พบหมายความว่าอย่างไรแน่ เมื่อตรวจสอบการทดลองแบบสุ่มที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์รายใหญ่ 5 หัว ทุก 4 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 1997-2009 เป็นเวลา 12 ปี ก็เห็นความหนักหนาของปัญหานี้โดยรวม จากการทดลอง 94 เรื่อง มีเพียง 25 เรื่อง (ร้อยละ 27) ที่มีการอ้างถึงการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำโดยใช้การทดลองที่คล้ายคลึงกับการทดลองนั้น จาก 94 เรื่องมีเพียง 3 เรื่องที่มีการทบทวนวรรณกรรมที่ปรับให้ทันเหตุการณ์แล้วโดยผนวกผลใหม่เข้าไปซึ่งแสดงว่า ผลที่ได้ใหม่มีผลอย่างไรต่อหลักฐานในองค์รวม น่าเศร้าที่ไม่พบหลักฐานว่าการรายงานพัฒนาขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป [12]

ความบกพร่องนี้ทำให้แพทย์ใช้ วิธีการรักษาต่างๆ กันโดยขึ้นอยู่กับว่าบังเอิญได้อ่านวารสารฉบับใด

[ม] ผู้สังเกตการณ์ในที่นี้คือผู้ประเมินผลการรักษา ซึ่งอาจเป็นแพทย์ หรืออื่นๆ ความลำเอียงชนิดนี้อาจเรียกในชื่ออื่นได้ว่า detection bias หรือ ascertainment bias ลดได้โดยการปกปิดไม่ให้ผู้สังเกตการณ์รู้ว่าผู้ป่วยได้รับวิธีการรักษาใด ด้วยการใช้ยาหลอก เป็นต้น ดังที่อธิบายในบทที่ 6

ถัดไป: แผนสำหรับอนาคตที่สดใส