แผนการสำหรับอนาคตที่สดใส

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: แผนการสำหรับอนาคตที่สดใส

งานวิจัยทางการแพทย์สามารถทำเพื่อเหตุผลที่เหมาะสมได้ รวมถึงทำและรายงานอย่างมีคุณภาพได้ด้วย คำแนะนำแต่ละข้อต่อไปนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อนำมารวมกันโดยทั้งผู้ป่วยและแพทย์สนับสนุน ข้อควรปฏิบัติทั้ง 8 ข้อนี้จะประกอบกันเป็นแนวทางสำหรับอนาคตที่สดใสในการตรวจสอบและใช้วิธีการรักษา

  1. เสริมสร้างความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวิธีตัดสินว่าคำกล่าวอ้างเรื่องผลของวิธีการรักษาเชื่อถือได้หรือไม่
  2. เพิ่มศักยภาพในการจัดทำ ปรับปรุง และเผยแพร่การทบทวนหลักฐานจากงานวิจัยอย่างเป็นระบบเรื่องผลการรักษา
  3. สนับสนุนให้ตรงไปตรงมาเมื่อมีความไม่แน่นอนเรื่องผลของวิธีการรักษา
  4. ค้นหาและให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่ตอบคำถามซึ่งผู้ป่วยและแพทย์เห็นว่าสำคัญ
  5. แก้ไขการเลือกปฏิบัติในการขอความยินยอมในการรักษา
  6. เพิ่มประสิทธิภาพในแวดวงวิจัย
  7. ประณามการตีพิมพ์ที่ลำเอียง
  8. เรียกร้องให้มีความโปร่งใสของข้อมูลเรื่องผลประโยชน์ทางการค้าและการเอื้อผลประโยชน์

1. เสริมสร้างความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวิธีตัดสินว่าคำกล่าวอ้างเรื่องผลของวิธีการรักษาเชื่อถือได้หรือไม่

ข้อแม้ของการเปลี่ยนแปลงมีอยู่ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องตระหนักว่าเหตุใดความลำเอียงและผลจากความบังเอิญจึงอาจบิดเบือนหลักฐานเรื่องผลการรักษาโดยสิ้นเชิง การตระหนักถึงและการลดความลำเอียง ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์นั้น แทบไม่ได้เป็น “ความรู้ทั่วไป” ในปัจจุบัน เราต้องแน่วแน่ยิ่งขึ้นที่จะเติมสิ่งสำคัญ ซึ่งขาดหายไปจากความเข้าใจ และทำให้แนวคิดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนตามปกติในโรงเรียนเป็นต้นไป

2. เพิ่มศักยภาพในการจัดทำ ปรับปรุง และเผยแพร่การทบทวนหลักฐานจากงานวิจัยอย่างเป็นระบบเรื่องผลการรักษา

การหาคำตอบของคำถามจำนวนมากเรื่องผลของวิธีการรักษา ทำได้ไม่ยาก โดยการทบทวนหลักฐานที่มีอย่างเป็นระบบ ปรับการทบทวนเหล่านี้ให้ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ และเผยแพร่ผลไปยังผู้ประกอบวิชาชีพ และผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เวลานานกว่าที่หลักฐานที่มีจะผ่านการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบจนได้สาระสำคัญพร้อมให้ใช้งาน การแก้ไขข้อด้อยนี้ควรเป็นหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของระบบสุขภาพ เพื่อให้มีการสังเคราะห์และเผยแพร่ข้อมูลที่เชื่อถือได้เรื่องผลของวิธีการรักษา

3. สนับสนุนให้ตรงไปตรงมาเมื่อมีความไม่แน่นอนเรื่องผลของวิธีการรักษา

ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพมักลำบากใจที่จะยอมรับว่ามีความ ไม่แน่นอน และบางครั้งผู้ป่วยก็ไม่เต็มใจยอมรับเช่นกัน จึงมีการรับรองให้ผู้ป่วยอุ่นใจทั้งที่ไม่เป็นจริง รวมถึงไม่มีการแจ้งเรื่องความไม่แน่นอนของหลักฐานการที่แพทย์และผู้ป่วยจะร่วมมือกันสำเร็จ เพื่อให้ประเมินผลของวิธีการรักษาได้ดีขึ้น ทั้งสองฝ่ายต้องพร้อมยอมรับว่าวิธีการรักษาที่ยังขาดการประเมินอย่างเพียงพออาจก่อผลเสียใหญ่หลวง รวมถึงควรเข้าใจกระจ่างขึ้น เรื่องวิธีที่ต้องใช้เพื่อให้ได้หลักฐานที่เชื่อถือได้ เราต้องหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างเสริมความเข้าใจดังกล่าว

4. ค้นหาและให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่ตอบคำถามซึ่งผู้ป่วยและแพทย์เห็นว่าสำคัญ

กว่าครึ่งของงานวิจัยที่ผู้ให้ทุนวิจัยสนับสนุนและทำโดยสถาบัน วิชาการ เป็นงานวิจัยพื้นฐานที่ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย และงานที่มีเป้าหมายให้อุตสาหกรรมได้ผลกำไรสูงสุด ส่วนงานวิจัยเชิงประยุกต์เรื่องคำถามที่ดูจะไม่ทำเงิน แต่สำคัญต่อผู้ป่วยนั้น แม้จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ก็ยังต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้ทรัพยากร เราควรตรวจตราให้มากยิ่งขึ้นว่ามีการตั้งคำถามเรื่องผลการรักษาที่ผู้ป่วยและแพทย์อยากรู้ ซึ่งผู้ให้ทุนวิจัยต้องคำนึงถึงเมื่อจัดลำดับความสำคัญงานวิจัย เพื่อให้ความไม่แน่นอนเหล่านี้กระจ่างขึ้น

5. แก้ไขการเลือกปฏิบัติในการขอความยินยอมในการรักษา

แพทย์ที่พร้อมยอมรับความไม่แน่นอนเรื่องผลของวิธีการรักษา และพร้อมจะแก้ไขด้วยการเปรียบเทียบวิธีการรักษาอย่างเป็นกิจจะลักษณะต้องเผชิญกับกฎในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยเข้มงวดกว่า การเลือกปฏิบัติที่แปลกประหลาดนี้ผิดตรรกะและฟังไม่ขึ้น การเข้าร่วมการทดลองแบบสุ่มหรือวิธีอื่นเพื่อประเมินอย่างไม่ลำเอียง ควรเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อมีความไม่แน่นอนเรื่องผลของวิธีการรักษา เราควรมั่นใจได้ว่าไม่มีการสื่อว่าการเข้าร่วมงานวิจัยเรื่องผลการรักษาเป็นการวอนหาเรื่อง ซึ่งมีนัยว่าเวชปฏิบัติ “มาตรฐาน” มีประสิทธิผลและปลอดภัยเสมอ

6. เพิ่มประสิทธิภาพในแวดวงวิจัย

หลายคนประหลาดใจเมื่อพบว่าไม่มีข้อกำหนดให้นักวิจัยที่จะขอทุนและอนุมัติจริยธรรมงานวิจัยใหม่ ประเมินองค์ความรู้เดิมอย่างเป็นระบบเสียก่อน ผลที่ตามมาแน่นอนคือยังมีการทำงานวิจัยที่ออกแบบด้อยคุณภาพและไม่จำเป็นเลยเป็นจำนวนมากเกินยอมรับได้ทั้งในแง่จริยธรรมและวิทยาศาสตร์ เราควรเรียกร้องผู้ให้ทุนและคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยตรวจตราว่า ถ้านักวิจัยจะเริ่มทำงานวิจัยเรื่องใหม่ใดๆ ต้องมีการอ้างอิงถึงการทบทวนหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่มีอย่างเป็นระบบ รายงานวิจัยเรื่องใหม่ควรเริ่มด้วยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อแสดงว่าเหตุใดจึงควรมีการวิจัยเพิ่มเติม และปิดท้ายด้วยการแสดงว่าผลการศึกษาใหม่ที่ได้เปลี่ยนแปลงหลักฐานองค์รวมอย่างไร

7. ประณามการตีพิมพ์ที่ลำเอียง

เพื่อช่วยยุติการตีพิมพ์ที่ลำเอียง ต้องมีการดำเนินการทั้งขณะการทดลองเริ่มต้นและเมื่อแล้วเสร็จดังนี้ เมื่อการทดลองเริ่มต้นควรมีการขึ้นทะเบียน และเปิดเผยโครงร่างการวิจัยต่อสาธารณะให้ตรวจสอบได้ เมื่อแล้วเสร็จควรมีการตีพิมพ์ผลของทุกการทดลอง และเผยแพร่ข้อมูลดิบให้ตรวจสอบวิเคราะห์เพิ่มเติมได้

8. เรียกร้องให้มีความโปร่งใสของข้อมูลเรื่องผลประโยชน์ทางการค้าและการเอื้อผลประโยชน์

ปัจจุบันมีหลักฐานจำนวนมากว่าบางครั้งผลประโยชน์ทางการเงิน และอื่นๆ อยู่เหนือผลประโยชน์ของผู้ป่วยทั้งการออกแบบ ดำเนินการ วิเคราะห์ แปลผล และนำงานวิจัยไปใช้ ปัญหานี้บั่นทอนความเชื่อมั่นระหว่างผู้ป่วยกับผู้วิจัย ซึ่งขาดไม่ได้ในการพัฒนางานวิจัยให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น จึงควรกำหนดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่บริษัทเชิงพาณิชย์ไปจนถึงกลุ่มพิทักษ์สิทธผู้ป่วย ต้องเปิดเผยผลประโยชน์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากผลประโยชน์ด้านสุขภาวะของผู้ป่วย

ต้องลงมือนับแต่วินาทีนี้

การตรวจสอบวิธีการรักษารอการปฏิวัติมาเนิ่นนานแล้ว หากผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ป่วยผนึกกำลังกัน ย่อมนำขั้นตอนต่างๆ ที่ผู้เขียนสนับสนุนไปปฏิบัติได้แน่นอน ผู้อ่านควรเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง…นับแต่วินาทีนี้

ถัดไปแผนปฏิบัติการ-สิ่งที่ผู้อ่านทำได้