ประโยชน์ของการมองโลกแง่ดีและความคาดหวัง

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: ประโยชน์ของการมองโลกแง่ดีและความคาดหวัง

ปัจจุบันเราเข้าใจชัดขึ้นเกี่ยวกับเหตุผลด้านจิตวิทยาที่ทำให้คนเราโยงว่าอาการของตนกระเตื้องขึ้นเพราะวิธีการรักษาที่ได้รับ ทุกคนมักจะทึกทักว่าถ้าสองเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน เหตุการณ์แรกอาจเป็น เหตุให้เกิดเหตุการณ์ที่สอง เราจะเริ่มพบแบบแผนซึ่งไม่มีอยู่จริง อันเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้บ่อยในหลากหลายสาขา เช่น การโยนเหรียญ ราคาหุ้น และการโยนลูกบาสเกตบอลลงห่วง ทั้งยังมีแนวโน้มจะมีปัญหาที่เรียกว่าความลำเอียงเพื่อยืนยันความคิดตัวเอง (confirmation bias) คือเราจะมองเห็นแต่สิ่งที่คิดว่าจะเห็น หรือ “เห็นในสิ่งที่เชื่อ” การพบสิ่งที่ยืนยันความเชื่อจะเสริมความมั่นใจว่าเราคิดถูก ตรงกันข้าม เราอาจไม่รับรู้ หรือไม่ยอมรับข้อมูลที่ขัดกับความคิดของเรา จึงทำเพิกเฉยโดยมักไม่รู้ตัว

ผู้ป่วยและแพทย์ส่วนใหญ่ย่อมหวังว่าวิธีการรักษาต่างๆ จะเป็นประโยชน์ จึงอาจสรุปว่าบางวิธีได้ผลเพียงเพราะตรงกับความเชื่อว่าน่าจะได้ผลโดยไม่ค้นหาหรือสนใจข้อมูลซึ่งขัดกับสิ่งที่เชื่อ ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยานี้อธิบายว่าเหตุใดผู้ป่วยที่เชื่อว่าวิธีการรักษาหนึ่งๆ ช่วยบรรเทาอาการได้ จึงรู้สึกว่าอาการทุเลาลง แม้ว่าที่จริงวิธีการรักษาดังกล่าวไม่มีสารออกฤทธิ์ใดๆ (“ยาปลอม” ซึ่งมักเรียกว่า “ยาหลอก [placebo]”) เคยมีผู้ป่วยที่บอกว่าอาการดีขึ้นหลังได้รับน้ำตาลอัดเม็ด ฉีดน้ำเปล่าเข้าร่างกาย การรักษาด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ทำงาน และการผ่าตัดที่แค่เปิดแผลเล็กๆ แล้วเย็บกลับคืน

ตัวอย่างเช่น การศึกษาหนึ่งที่เปรียบเทียบอาหารลดน้ำหนักชนิดต่างๆ นักวิจัยให้ผู้ที่อยากลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นผู้ชมรายการโทรทัศน์ยอดนิยมรายการหนึ่ง กินอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดหนึ่งจาก 6 ชนิด หนึ่งในนั้นคือชาไป๋หลิน ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ว่าช่วยให้ลดน้ำหนักได้จริง ผู้ที่ลดน้ำหนักทั้ง 6 กลุ่มมีน้ำหนักเฉลี่ยต่ำลง แต่บางกลุ่มลดลงกว่ากลุ่มอื่นมาก ทว่าเมื่อนำเสนอผลนี้ทางโทรทัศน์ก็มีการเผยว่า “อาหารสูตรแครอต” ซึ่งเป็นหนึ่งในนั้น ไม่ใช่อาหารลดน้ำหนักเลย แต่รวมไว้ในการศึกษาเพื่อใช้เป็น “ค่า อ้างอิง” ของน้ำหนักที่ลดลงโดยไม่ได้เป็นผลจากอาหาร แต่เป็นเพราะพฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป เนื่องจากผู้เข้าร่วมการศึกษาได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยอื่น[2]

ถัดไปความจำเป็นที่ต้องใช้มากกว่าความรู้สึก