เปรียบเทียบสิ่งที่คล้ายกัน

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: การเปรียบเทียบคือแก่น

การเปรียบเทียบคือแก่น

การเปรียบเทียบคือแก่นของการตรวจสอบวิธีการรักษาอย่างเที่ยงธรรมทุกครั้ง บางครั้งแพทย์และผู้ป่วยก็เปรียบเทียบข้อดีของวิธีการรักษา 2 วิธีอยู่ในใจ เช่น ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าตนหรือผู้อื่นตอบสนองต่อวิธีการรักษาหนึ่งต่างจากวิธีที่เคยใช้ อีกทั้งตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 อัล-ราซี แพทย์ชาวเปอร์เซีย ได้เปรียบเทียบผลการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) ด้วยการระบายเลือดทิ้ง (blood-letting) กับผลการรักษาในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวิธีการรักษาดังกล่าว เพื่อดูว่าการระบายเลือดทิ้งมีประโยชน์หรือไม่

ปกติวิธีการรักษาจะถูกตรวจสอบโดยเปรียบเทียบกลุ่มผู้ป่วยซึ่งได้รับวิธีการรักษาต่างกัน การเปรียบเทียบนี้จะเที่ยงธรรมได้ก็ต่อเมื่อมั่นใจได้ว่าเป็นการเปรียบเทียบสิ่งที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ กลุ่มผู้ป่วยถูกจัดให้เหมือนกันทุกประการเว้นแต่วิธีการรักษาที่ได้รับภูมิปัญญานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่น ก่อนที่เจมส์ ลินด์จะเริ่มเปรียบเทียบวิธีการรักษาโรคลักปิดลักเปิดทั้ง 6 วิธีบนเรือเอชเอ็มเอส ซอลส์บรี ในปี ค.ศ. 1747 เขาได้ (1) ใส่ใจเลือกผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเดียวกันของโรคที่มักคร่าชีวิตนี้ (2) ตรวจตราว่าผู้ป่วยได้รับอาหาร พื้นฐานเหมือนกัน และ (3) จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกัน (ดูบทที่ 1 หน้า 33-37) ลินด์ตระหนักว่าปัจจัยอื่นนอกจากวิธีการรักษาอาจมีผลต่อโอกาสที่ผู้ป่วยจะหายป่วย

ตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้การตรวจสอบลำเอียงคือ การให้วิธีการรักษาหนึ่งกับผู้ป่วยที่โรครุนแรงน้อยกว่า หรือในโรคระยะแรกๆ และให้วิธีอื่นกับผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิต เช่น หากผู้ป่วยกลุ่มแรกได้รับกรดกำมะถัน ซึ่งราชวิทยาลัยแพทย์แห่งลอนดอนแนะนำ และผู้ป่วยกลุ่มหลังได้รับผลไม้ที่มีวิตามินซี ซึ่งกะลาสีเรือแนะนำ จะดูเหมือนกรดกำมะถันได้ผลดีกว่า ทั้งที่จริงแย่กว่า ความลำเอียงเช่นนอาจเกิดได้หากขาดการใส่ใจตรวจตราว่าสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบกันคล้ายคลึงกันทุกด้าน

เนื้อเรื่องย่อย

ถัดไปวิธีการรักษาที่เห็นผลเด่นชัด