เฮอเซปติน (Herceptin)

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: เฮอเซปติน

ไม่ได้มีแต่บริษัทเชิงพาณิชย์ที่เชิดชูข้อดีและกลบเกลื่อนข้อเสีย ของวิธีการรักษาใหม่ ความตื่นเต้นดีใจของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพและการประโคมของสื่อก็ส่งผลเช่นเดียวกัน ข้อเสียเหล่านี้อาจไม่ใช่แค่ผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย แต่ยังรวมถึงความยุ่งยากในการตรวจวินิจฉัยโรคด้วย ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์เกี่ยวกับยาโรคมะเร็งเต้านม ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) ซึ่งมักรู้จักกันในชื่อการค้าเฮอเซปติน (ดูเพิ่มเติมในบทที่ 3)

ต้นปี ค.ศ. 2006 การเรียกร้องของกลุ่มผู้ป่วยและผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งหนุนโดยอุตสาหกรรมยาและสื่อมวลชนทำให้ระบบบริการสุขภาพแห่ง ชาติ (National Health Service) ในสหราชอาณาจักรให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกใช้เฮอเซปตินได้ “เสียงรบเร้าของผู้ป่วย” ได้ชัย และเฮอเซปตินก็ถูกนำเสนอว่าเป็นยาชั้นเลิศ (ดูบทที่ 11)

แต่ขณะนั้น เฮอเซปตินได้ขึ้นทะเบียนในการรักษาเฉพาะมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (แพร่ไปทั่วร่างกาย) และยังมีการทดสอบไม่เพียงพอในมะเร็งเต้านมระยะแรก อันที่จริงบริษัทเพิ่งยื่นขออนุญาตให้ใช้ยานี้รักษาโรคนี้ระยะแรกในผู้ป่วยหญิงกลุ่มเล็กๆ คือกลุ่มททดสอบแล้วพบว่ามีโปรตีนชื่อ HER2 โดยมีหญิงเพียง 1 ใน 5 คนที่มีลักษณะทางพันธุกรรมนี้ ทว่าสื่อมวลชนที่ไฟแรง แต่ไม่คิดวิเคราะห์ แทบไม่รายงานเรื่องความยุ่งยาก และค่าใช้จ่ายในการประเมินให้ถูกต้องว่าผู้ป่วยมี HER2 หรือไม่ ความเป็นไปได้ที่จะตรวจวินิจฉัย รวมถึงความผิดพลาดในการรักษาเนื่องจากเป็นผลบวกลวง (false positive)[ฉ] ซ้ำยังไม่มีการย้ำว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านม อย่างน้อย 4 ใน 5 คนไม่ได้มี HER2 [9, 10, 11, 12]

ต้องรอจนปลายปีนั้นสถาบันเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์แห่งชาติ (National Institute for Health and Clinical Excellence หรือ NICE) ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาหลักฐานอย่างเป็นกลางและออกคำแนะนำด้านสุขภาพ จึงได้แนะนำว่าให้ใช้เฮอเซปตินเป็นทางเลือกในการรักษาหญิงที่ตรวจพบว่ามี HER2 ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมระยะแรก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคำเตือนที่สำคัญข้อหนึ่งเนื่องจากมีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่าเฮอเซปตินมีผลข้างเคียงต่อการทำงานของหัวใจ NICE จึงแนะนำให้แพทย์ประเมินการทำงานของหัวใจก่อนสั่งใช้ยานี้ และไม่ให้ใช้ยานี้ในหญิงที่มีปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับหัวใจ ตั้งแต่เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดไปถึงหัวใจเต้นผิดปกติ NICE พิจารณาแล้วว่าจำเป็น ต้องให้คำเตือนนี้ เพราะมีข้อมูลระยะสั้นเกี่ยวกับผลข้างเคียง ซึ่งบางอย่าง ก็ร้ายแรง ส่วนผลดีและผลเสียในระยะยาวต้องใช้เวลากว่าจะปรากฏ [13]

เมื่อโดนดึงเข้าไปในวังวน

ปี ค.ศ. 2006  ผู้ป่วยคนหนึ่งในสหราชอาณาจักร ซึ่งผ่านการฝึกอบรมด้านการแพทย์มา เผลอตามกระแสเฮอเซปตินไปด้วย เมื่อเธอถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมแบบมี HER2 ในปีก่อนหน้านั้น

อ่านต่อ

ยังมีแรงกดดันแบบเดียวกันเพื่อให้นำเฮอเซปตินไปใช้เกิดขึ้นใน ประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น ในนิวซีแลนด์ กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ผู้ป่วย สื่อมวลชน บริษัทยา และนักการเมือง เรียกร้องให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ใช้เฮอเซปติน องค์กรจัดการยาของนิวซีแลนด์ (New Zealand’s Pharmaceutical Management Agency หรือ PHARMAC) ซึ่งทำหน้าที่คล้าย NICE ใน สหราชอาณาจักร ก็ทบทวนหลักฐานเกี่ยวกับการใช้เฮอเซปตินในมะเร็งเต้านมระยะแรกเช่นกัน ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2007 PHARMAC ตัดสินใจโดยอ้างอิงผลการทบทวนดังกล่าวว่า การใช้เฮอเซปตินนาน 9 สัปดาห์ร่วมกับยา รักษามะเร็งชนิดอื่น เหมาะสมในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมระยะแรก ยาสูตร 9 สัปดาห์นี้เป็น 1 ใน 3 สูตรที่ทดลองใช้กันทั่วโลก PHARMAC ยังตัดสินใจสนับสนุนทุนให้การศึกษาระดับนานาชาติ เพื่อหาระยะเวลาที่เหมาะสมในการรักษาด้วยเฮอเซปติน แต่ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2008 รัฐบาลที่เลือกตั้งมาใหม่กลับเพิกเฉยการตัดสินใจที่มีหลักฐานรองรับของ PHARMAC และประกาศให้เบิกจ่ายยาดังกล่าวในสูตร 12 เดือน [14]

ยังมีความไม่แน่นอนอีกมากเกี่ยวกับเฮอเซปติน เช่น เมื่อไรควรใช้ ยานี้ ควรใช้นานเท่าใด ผลเสียระยะยาวในผู้ป่วยบางคนจะมากกว่าผล ดีหรือไม่ และเฮอเซปตินแค่ชะลอ หรือป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งซ้ำกันแน่ ข้อกังวลอีกเรื่องหนึ่งคือ เมื่อให้เฮอเซปตินร่วมกับยามะเร็งเต้านมอื่นๆ เช่น แอนทราไซคลิน (Anthracycline) และไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophos- Phamide) อาจเพิ่มโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีอาการข้างเคียงด้านหัวใจ จาก 4 ใน 100 เป็น 27 ใน 100 เลยทีเดียว [15]

[ฉ] ผลจากความผิดพลาดของการตรวจ ซึ่งให้ผลผิดพลาดว่าผู้รับการตรวจเป็นโรคหรือมีสิ่งนั้นๆ ทั้งที่ผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรค หรือไม่มีสิ่งดังกล่าว

เพิ่มเติมเอกสารอ้างอิง (บทที่ 1)

บทถัดไป: บทที่ 2 หวังไปก็ไร้ผล