บทที่ 1 ใหม่กว่าแล้วดีกว่าไหม

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: บทที่ 1 ใหม่กว่าแล้วดีกว่าไหม

ประเด็นสำคัญ

  • การตรวจสอบวิธีการรักษาเป็นเรื่องจำเป็น เพราะวิธีการรักษาใหม่มีโอกาสพอๆ กันที่จะแย่กว่า หรือดีกว่าวิธีการรักษาที่ใช้กันอยู่
  • การตรวจสอบวิธีการรักษาที่ลำเอียง (ไม่เที่ยงธรรม) อาจทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานและเสียชีวิต
  • วิธีการรักษาที่อนุมัติให้ใช้แล้วก็ใช่ว่าปลอดภัยเสมอไป
  • ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าอาการข้างเคียงจากวิธีการรักษาจะปรากฏ
  • ประโยชน์ จากวิธีการรักษามักถูกเน้นเกินจริง ขณะที่ผลร้ายมักถูกกลบเกลื่อน

ทำไมต้องมีการตรวจสอบวิธีการรักษาอย่างเที่ยงธรรม

เรื่องเล่าก็เป็นแค่เรื่องเล่า

“สมองของเราดูจะโปรดปรานเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมา เราเรียนรู้ได้ง่ายที่สุดผ่านเรื่องเล่าที่น่าสนใจ แต่ผมตกใจที่ผู้คนมากมายซึ่งรวมถึงเพื่อนผมหลายคนไม่เห็นหลุมพรางของวิธีนี้”

อ่านต่อ

หากขาดการประเมินอย่างเที่ยงธรรม…คือไม่ลำเอียง…ก็อาจมีการสั่งใช้วิธีการรักษาที่ไม่ได้ผลหรือกระทั่งเป็นโทษเพราะนึกว่ามีประโยชน์ หรือตรงข้าม การรักษาที่ได้ผลก็อาจถูกละเลยเพราะมองว่าไม่มีประโยชน์ จึงควรตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมกับวิธีการรักษาทุกวิธี โดยไม่ต้องสนใจว่ามันมีที่มาอย่างไร หรือเป็นวิธีมาตรฐานหรือวิธีเสริม/ทางเลือกหรือไม่ ไม่ควรเชื่อทฤษฎีเกี่ยวกับผลของวิธีการรักษาที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ ไม่ว่าจะฟังน่าเชื่อถือแค่ไหน บางทฤษฎีทำนายว่าวิธีการรักษานั้น ๆ จะได้ผล แต่การตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมเผยเป็นตรงข้าม อีกหลายทฤษฎีทำนายอย่างมั่นใจว่าวิธีการรักษานั้น ๆ จะไม่ได้ผล แต่ตรวจสอบแล้วกลับพบว่าได้ผล

แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาที่คิดว่า “ใหม่” แปลว่า “ดีขึ้น” อย่างในโฆษณาผงซักฟอกที่ใช้กับเครื่องซักผ้า แต่เมื่อประเมินวิธีการรักษาใหม่ ๆ ด้วยการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมกลับพบว่า วิธีใหม่มีโอกาสพอกันที่จะแย่กว่าหรือดีกว่าวิธีเดิม ในทำนองเดียวกัน เป็นเรื่องธรรมดาที่จะคิดว่า สิ่งใดที่อยู่มานานก็ต้องปลอดภัยและได้ผล แต่ที่การดูแลสุขภาพเละเทะก็เป็นเพราะใช้วิธีการรักษาที่คุ้นชินหรือทำตามที่ปักใจเชื่อมากกว่าจะอ้างอิงหลักฐาน วิธีการรักษาเหล่านี้มักไม่ได้ให้ผลดีและยังเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

เจมส์ ลินด์

เรื่องที่ว่าการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมเป็นสิ่งจำเป็นไม่ใช่เรื่องใหม่ ในศตวรรษที่ 18 เจมส์ ลินด์ ใช้การตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมเปรียบเทียบวิธีการรักษาหกวิธี เพื่อใช้แก้โรคลักปิดลักเปิดที่คร่าชีวิตกะลาสีเรือจำนวนมากระหว่างการเดินทางไกล

เขาชี้ให้เห็นว่าส้มและมะนาว ซึ่งตอนนี้เรารู้แล้วว่ามีวิตามินซี เป็นวิธีการรักษาที่ให้ผลดีมาก

ในปี 1747 ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นศัลยแพทย์ประจำเรือเอชเอ็มเอส ซอลส์บรี เจมส์ ลินด์รวมคนไข้ที่เป็นโรคระยะเดียวกัน 12 คนมาอยู่บริเวณเดียวกันในเรือ และควบคุมให้พวกเขาได้อาหารพื้นฐานเหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันสร้าง ‘สถานการณ์ที่ทุกคนเหมือนกัน’

จากนั้นลินด์รักษากะลาสีแต่ละคู่ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งในหกวิธีที่ใช้กับโรคลักปิดลักเปิดในตอนนั้น ได้แก่ ไซเดอร์[ข] กรดกำมะถัน น้ำส้มสายชู น้ำทะเล จันทน์เทศ และส้มสองผลร่วมกับมะนาวหนึ่งผล ผลไม้ชนะขาดลอย

ภายหลังกองทัพเรือสหราชอาณาจักรจึงสั่งจัดหาน้ำมะนาวให้เรือทุกลำ กำจัดโรคร้ายนี้ไปจากราชนาวีก่อนสิ้นสุดศตวรรษที่ 18

ในวิธีการรักษาต่าง ๆ ที่ลินด์เปรียบเทียบนั้น ราชวิทยาลัยแพทย์สนับสนุนการใช้กรดกำมะถัน ขณะที่กองทัพเรือเลือกน้ำส้มสายชู ซึ่งการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมของลินด์แสดงว่า ทั้งสองแนวทางผิดพลาด

น่าแปลกที่องค์กรทรงอิทธิพลมักพลาดบ่อย ๆ การทำตามความเห็น ความเคยชิน หรือประสบการณ์มากเกินไป แทนที่จะใช้ผลของการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรม จึงยังสร้างปัญหาร้ายแรงในการดูแลสุขภาพอยู่เนือง ๆ

ทุกวันนี้ผลที่ไม่แน่นอนของวิธีการรักษามักได้รับความสนใจในเวลาที่แพทย์กับบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ เห็นต่างกันว่าอะไรคือวิธีที่ดีที่สุด

ในการจัดการความไม่แน่นอนเหล่านี้ ผู้ป่วยและสาธารณชนก็มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกับแพทย์ งานวิจัยเกี่ยวกับวิธีการรักษาควรรอบคอบ เพื่อประโยชน์มหาศาลต่อทั้งผู้ป่วยและผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ

ขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมั่นใจว่าคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการรักษาที่ตนเลือกใช้มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ ผู้ป่วยก็ต้องเรียกร้องให้มีการปฏิบัติเช่นนั้น ด้วยการสร้างความร่วมมือที่สำคัญนี้ ประชาชนจึงจะเชื่อมั่นในทุกสิ่งที่ได้รับจากการแพทย์แผนปัจจุบัน

[ข] Cider เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำด้วยน้ำแอปเปิ้ลหมัก

ถัดไป: ทาลิโดไมด์ (Thalidomide)