การคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก : ผลเสียชัดเจน แต่ประโยชน์ไม่แน่นอน

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: การคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก : ผลเสียชัดเจน แต่ประโยชน์ไม่แน่นอน

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสองในชายทั่วโลก [14] แบ่งกว้างๆ เป็น 2 ชนิด ผู้ป่วยบางรายเป็นชนิดรุนแรง ซึ่งแพร่กระจายเร็ว อัตราการเสียชีวิตจึงสูง แต่ผู้ป่วยจำนวนมากก็เป็นมะเร็งชนิดโตช้า ซึ่งจะไม่ลุกลามจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพตลอดชีวิต จะดีที่สุดหากการคัดกรองวินิจฉัยพบมะเร็งชนิดอันตราย ซึ่งหวังว่าจะรักษาได้ และไม่พบมะเร็งชนิดโตช้า เพราะการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากไม่ว่าชนิดใดก็เสี่ยงให้ผลข้างเคียงเลวร้าย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งเป็นการสูญเสียที่หนักหนา ถ้าเดิมทีมะเร็งไม่ได้ก่อปัญหา [15]

ระดับของสารที่เรียกว่าแอนติเจนจำเพาะต่อต่อมลูกหมาก (pros- tate-specific antigen หรือ PSA) ในเลือดจะเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากส่วนใหญ่ ทว่าไม่มีเส้นแบ่งระดับชัดเจนเพื่อจำแนกระหว่างคนที่เป็นมะเร็งกับคนที่ไม่เป็น [16] และใน 5 รายที่เป็นมะเร็งชนิดที่ต้องรักษา มีมากถึง 1 รายที่มีระดับ PSA ปกติ ซ้ำร้าย ถึงชื่อจะบอกว่า “จำเพาะ” แต่ PSA กลับไม่มีความจำเพาะแม้แต่น้อย เพราะอาการต่างๆ เช่น เนื้องอกในต่อมลูกหมากชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง การติดเชื้อ และกระทั่งยาแก้ปวดที่ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์บางชนิด ก็ทำให้ระดับ PSA เพิ่มขึ้นได้ เฉพาะแค่ประเด็นเหล่านี้ก็บ่งชัดแล้วว่า PSA มีข้อจำกัดใหญ่หลวงในการใช้ตรวจคัดกรอง

การวินิจฉัยเกินในมะเร็งต่อมลูกหมาก

“มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นตัวอย่างชั้นยอดของการวินิจฉัยเกิน

อ่านต่อ

แต่ทั้งผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มผู้ป่วย และบริษัทที่จำหน่ายอุปกรณ์ในการตรวจ ก็ยังประชาสัมพันธ์แข็งขันให้มีการตรวจระดับ PSA ในชายสุขภาพปกติเพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก วิธีนี้ยังใช้แพร่หลายในหลายประเทศ กลุ่มที่วิ่งเต้นสนับสนุนการคัดกรอง PSA เป็นที่เชื่อถือมากในสหรัฐอเมริกาซึ่งประเมินว่าในแต่ละปีมีคน 30 ล้านคนเข้ารับการตรวจโดยเชื่อว่าสมควรทำ ถ้าอย่างนั้น มีหลักฐานไหมว่าการตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากได้แต่เนิ่นๆ จากการคัดกรอง PSA จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น และเรารู้อะไรเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการตรวจวิธีนี้บ้าง

ปัจจุบันเริ่มมีหลักฐานที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับประโยชน์และอันตรายจากการคัดกรองด้วย PSA ในปี ค.ศ. 2010 มีการนำผลจากการทดลองที่เกี่ยวข้องมาทบทวนอย่างเป็นระบบพบว่า แม้การคัดกรองด้วย PSA จะเพิ่มแนวโน้มการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก (ดังที่คาด) กลับไม่มีหลักฐานว่าการคัดกรองมีผลต่ออัตราการเสียชีวิตจากมะเร็ง หรืออัตราการเสียชีวิตโดยรวมเลย [17]

ผู้ค้นพบ PSA เปิดอก

“ความนิยมในการตรวจนี้ก่อให้เกิดหายนะซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงลิ่วในการสาธารณสุข นี่เป็นเรื่องที่ผมชินชา ผมค้นพบ PSA ในปี ค.ศ. 1970…

อ่านต่อ

ถ้าอย่างนั้น กระแสการคัดกรอง PSA ตีกลับหรือเปล่า ริชาร์ด แอบลิน ผู้ค้นพบ PSA ทั้งมั่นใจและพูดมานานหลายปีแล้วว่ากระแสควรตีกลับ เขาเขียนให้ความเห็นในปี ค.ศ. 2010 ว่า “ผมไม่คิดฝันว่าการค้นพบของผมเมื่อ 40 ปีก่อนจะเป็นเหตุของการแสวงหากำไรจนเกิดหายนะทางสาธารณสุขแบบนี้ แวดวงการแพทย์ต้องยอมรับความจริงและเลิกใช้การคัดกรองด้วย PSA อย่างไม่เหมาะสม เพราะถ้าทำได้ จะประหยัดเงินได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และช่วยชายเป็นล้านๆ คนให้รอดพ้นจากการรักษาที่ไม่จำเป็น ซึ่งบั่นทอนสุขภาพ” อย่างน้อยก่อนรับการตรวจ PSA ชายทุกคนควรได้รับแจ้งถึงข้อจำกัดของการตรวจและผลเสียที่อาจเกิด เช่น ที่ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งกล่าวไว้ว่า “(ชาย) ควรได้รับการชี้แจงว่าการตรวจไม่อาจบอก (พวกเขา) ได้ว่ามีมะเร็งที่เป็นอันตรายถึงชีวิตหรือไม่ แต่ทำให้พวกเขาต้องรับการตรวจและการรักษาขนานใหญ่ ซึ่งหากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง” [18]

ถัดไปการคัดกรองมะเร็งปอด : รู้เร็ว แต่ยังไม่เร็วพอหรือเปล่า