การคัดกรองมะเร็งปอด : รู้เร็ว แต่ยังไม่เร็วพอหรือเปล่า

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: การคัดกรองมะเร็งปอด : รู้เร็ว แต่ยังไม่เร็วพอหรือเปล่า
Graphic illustrating the growth of lung cancer

การลุกลามและแพร่กระจายของมะเร็งปอดในผู้ที่สูบบุหรี่จัด

การคัดกรองอาจวินิจฉัยโรคได้เร็ว แต่ก็ไม่เร็วพอจะเป็นประโยชน์เสมอไป (ดูภาพ)

มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปอด แพร่กระจายในร่างกายก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการ และก่อนที่การตรวจใดๆ จะพบว่ามีมะเร็ง ความพยายามตรวจหามะเร็งปอดโดยใช้การเอกซเรย์ช่องอก (chest x-rays) เป็นตัวอย่างของปัญหานี้ (ดูระยะ B ในภาพ) ในทศวรรษ 1970 การศึกษาขนาดใหญ่หลายครั้งในผู้สูบบุหรี่จัดพบว่า แม้พบมะเร็งตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ไม่มีหลักฐานว่าการเสียชีวิตจากโรคนี้ลดลง เพราะมะเร็งปอดที่เอกซเรย์พบแพร่กระจายไปนอกปอดก่อนแล้ว ผู้ป่วยจึงถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งนานขึ้นก่อนที่จะเสียชีวิต และได้รับการรักษาเร็วขึ้น แต่ไม่มีหลักฐานว่าสิ่งเหล่านี้มีผลต่ออายุคาดเฉลี่ย[ฒ] ไม่นานมานี้ มีการทดลองแบบสุ่มขนาดใหญ่ในผู้ที่เคย หรือกำลังสูบบุหรี่จัดจำนวน 53,000 ราย เพื่อเปรียบเทียบระหว่างการคัดกรองด้วยการเอกซเรย์ช่องอกกับการคัดกรองด้วยการเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT) ชนิดพิเศษที่เรียกว่า CT แบบเกลียว (spiral CT) ทั้งสองกลุ่มได้รับการคัดกรองปีละครั้งนาน 3 ปี CT แบบเกลียววินิจฉัยมะเร็งปอดได้เร็วกว่าการเอกซเรย์ช่องอก การวินิจฉัยนี้เร็วพอ (ระยะ A ในภาพ) ที่การรักษาจะเป็นประโยชน์ในผู้ป่วยกลุ่มเล็กๆ (346 รายในกลุ่ม CT แบบเกลียวและ 425 ราย ในกลุ่มเอกซเรย์ช่องอกเสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด) แต่ผลดีนี้ต้องแลกมาด้วย การที่คนจำนวนมากถูกเข้าใจผิดว่าเป็นมะเร็งปอดโดยรวม ในช่วง 8 ปีที่ตามสังเกตผู้ที่สูบบุหรี่จัดและได้รับการเอกซเรย์ หรือ CT แบบเกลียวปีละครั้งนาน 3 ปี ในทุก 1,000 รายจะมีผู้เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอดลดลง 3 ราย แต่ยังเสียชีวิต 13 รายแม้วินิจฉัยได้แต่เนิ่นๆ และ 233 รายได้ผลบวกลวง ซึ่งต้องตรวจเพิ่มเติมต่อไป [19]

[ฒ] Life expectancy คือระยะเวลาเฉลี่ยที่บุคคลหนึ่งจะมีชีวิตอยู่ต่อไปก่อนเสียชีวิตเมื่อนับจากอายุในขณะนั้น

Nextการตรวจพันธุกรรม : บางครั้งมีประโยชน์ แต่หลายคราวเชื่อไม่ได้