การคัดกรองมะเร็งเต้านม : เป็นที่ยอมรับแต่ยังมีการถกเถียงกัน

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: การคัดกรองมะเร็งเต้านม : เป็นที่ยอมรับแต่ยังมีการถกเถียงกัน

เนื่องจากการคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นระยะๆ ด้วยการตรวจเต้านมโดยการถ่ายภาพรังสี (mammography) ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ เราจึงสันนิษฐานว่าคงมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าวิธีนี้มีประโยชน์มากกว่าโทษ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ในปี ค.ศ. 2010 ว่า “การคัดกรองนี้ได้รับการศึกษาอย่างถี่ถ้วนที่สุดเท่าที่เคยมีมา หญิงกว่า 600,000 รายเข้าร่วมในการทดลองแบบสุ่ม 10 โครงการ ในช่วง 50 ปีมานี้ แต่ละโครงการก็ติดตามพวกเธอนานร่วม 10 ปี” แต่เขากล่าวต่อว่า “เหลือ เชื่อที่การคัดกรองด้วยการตรวจเต้านมโดยการถ่ายภาพรังสี เป็นเรื่องหนึ่งที่แวดวงการแพทย์ยังถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น ทั้งที่มีความทุ่มเททำวิจัยขนาดนี้”[9]

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เหตุผลสำคัญข้อหนึ่ง คือทั้งผู้ให้บริการคัดกรองและกลุ่มผู้ป่วยพยายาม “โฆษณา” กับหญิงทั่วไปว่าการคัดกรองนี้เป็นสิ่งที่ควรทำ ข้อมูลที่ให้ผู้ที่ถูกเชิญชวนจึงเน้นย้ำแต่ผลดี พร้อมกลบเกลื่อนผลเสียข้อจำกัด และผลจากการคัดกรอง [10] แม้ว่าการตรวจเต้านมโดยการถ่ายภาพรังสีจะช่วยให้ตรวจพบมะเร็งได้แต่เนิ่นๆ แต่มะเร็งที่พบส่วนหนึ่งจะไม่แสดงอาการเลยตลอดชีวิตผู้ป่วย เช่นเดียวกับในมะเร็งต่อมลูกหมาก และจะมีผู้ที่ได้ผลบวกลวงแน่นอน

หลักฐานน่าเชื่อถือที่สุดมาจากการนำผลการทดลองที่สุ่มเลือกให้หญิงแต่ละรายเข้ารับ หรือไม่เข้ารับการคัดกรอง มาทบทวนอย่างเป็นระบบ ผลที่ได้น่าสนใจทีเดียว เพราะมันชี้ว่าถ้าหญิง 2,000 คนรับการคัดกรองเป็นประจำตลอด 10 ปี จะมีคนหนึ่งได้ประโยชน์ เนื่องจากไม่เสียชีวิตเพราะมะเร็งเต้านม แต่หญิงสุขภาพดี 10 คนกลับกลายเป็น “ผู้ป่วยโรคมะเร็ง” และได้รับการรักษาทั้งที่ไม่จำเป็น เพราะการตรวจเต้านมโดยการถ่ายภาพรังสีจะตรวจพบรอยโรคชนิดที่ลามช้ามาก (หรือกระทั่งไม่ลามเลย) จนไม่มีทางลุกลามเป็นมะเร็งจริงๆ แต่หญิงที่ไม่เป็นโรคเหล่านี้ก็จะถูกตัดเต้านมออกบางส่วน หรือทั้งหมด และมักได้รับการฉายรังสี หรือเคมีบำบัด [11]

ยิ่งกว่านั้น หญิงที่ผ่านการคัดกรอง 200 จาก 2,000 คนต้องวิตกโดยใช่เหตุ หวาดหวั่นทั้งขณะที่ยังไม่รู้ว่าเป็นมะเร็งจริงไหมและหลังจากรู้แล้ว การตรวจเต้านมโดยการถ่ายภาพรังสีมักถูกประชาสัมพันธ์ร่วมกับคำแนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยตัวเอง (breast self-examination) หรือการดูและคลำเต้านม (breast awareness) ซึ่งรู้ชัดแล้วว่าทั้งสองวิธีนี้มีโทษมากกว่าประโยชน์ [12]

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชาวสหราชอาณาจักรชี้ว่า ประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์จากการตรวจเต้านมโดยการถ่ายภาพรังสี เขากล่าวว่า “ผู้คนจำนวนมากยังไม่เข้าใจประเด็นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ให้บริการปิดบัง เนื่องจากทึกทักว่าต้องมีการประชาสัมพันธ์วิธีตรวจนี้ในแง่ดี เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะยินยอมเข้ารับ (การคัดกรอง)” หลังจากประเมินหลักฐานทั้งหมดในปี ค.ศ. 2010 เขากล่าวว่า “การตรวจเต้านมโดยการถ่ายภาพรังสีช่วยชีวิตได้จริง โดยได้ผลดีในหญิงสูงวัย แต่ก็ยังมีผลเสียบางประการ” ผลเสียที่กล่าวถึงคือการวินิจฉัยเกินและผลบวกลวง ที่สำคัญ เขาพบว่าผลการตรวจร่างกายเต็มรูปแบบของหญิงแต่ละคนในการศึกษาเรื่องการคัดกรอง ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างไม่มีอคติ [13] แต่ระหว่างที่ต้องรอการประเมินที่เป็นกลาง ประชาชนก็ยังถูกเชิญชวนให้เข้ารับการคัดกรองด้วยวิธีดังกล่าว ทั้งที่อย่างน้อย พวกเธอควรได้รับข้อมูลรอบด้านพอที่จะตัดสิน ใจ (ร่วมกับครอบครัว หรือแพทย์ถ้าพวกเธอต้องการ) ได้ว่าจะเข้ารับการคัดกรองหรือไม่

ถัดไป การคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก : ผลเสียชัดเจน แต่ประโยชน์ไม่แน่นอน