เมื่อแพทย์เห็นไม่ตรงกัน

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: เมื่อแพทย์เห็นไม่ตรงกัน

ในหลายๆ โรคและหลายๆ อาการ ยังไม่แน่นอนนักว่าวิธีการรักษาใดได้ผลมากน้อยเพียงใด และวิธีใดดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยรายนั้น แต่แพทย์กลับไม่ลดการมองวิธีการรักษาต่างๆ แบบสุดโต่งลงเลย ทั้งที่ความเห็นของแพทย์แต่ละรายอาจแตกต่างกัน ซึ่งทำให้วิธีการรักษาที่ใช้ในอาการนั้นๆ ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ในทศวรรษที่ 1990 เอียน ชาลเมอร์ส ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียน ข้อเท้าหักขณะพักผ่อนอยู่ในสหรัฐอเมริกา เขาได้รับการรักษาโดยศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ซึ่งดามขาข้างนั้นไว้ชั่วคราวและบอกว่า หลังจากหายบวมจะมีการใส่เฝือกแข็งตั้งแต่เข่าลงมานาน 6 สัปดาห์ หลังจากเอียนกลับบ้านในอีกไม่กี่วันถัดมา เขาไปที่คลินิกรักษากระดูกหักใกล้บ้าน ศัลยแพทย์โรคกระดูกและข้อชาวสหราชอาณาจักรแย้งคำแนะนำดังกล่าวโดยไม่ลังเล โดยบอกว่าการเข้าเฝือกขานั้นไม่เหมาะสมเลย เมื่อผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นแตกต่างกันชัดเช่นนี้ เอียนจึงถามว่าเป็นไปได้ไหมที่เขาจะเข้าร่วมการเปรียบเทียบแบบมีกลุ่มควบคุม เพื่อดูว่าวิธีการรักษาใดดีกว่า ศัลยแพทย์ชาวสหราชอาณาจักรตอบว่าการทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมนั้น มีไว้สำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจว่าคิดถูกหรือไม่ แต่เขามั่นใจ

What should a doctor do?

แพทย์ควรทำอย่างไร

ทำไมความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจึงต่างกันสุดขั้วเช่นนี้ แล้วผู้ป่วยต้องทำอย่างไร ศัลยแพทย์ทั้งสองมั่นใจว่าวิธีการรักษาของตนถูกต้องทว่ามุมมองที่ต่างกันสิ้นเชิงนเผยให้เห็นความไม่แน่นอนในหมู่แพทย์ว่า วิธีใดดีที่สุดในการรักษากระดูกหักธรรมดา มีหลักฐานที่เชื่อถือได้หรือไม่ว่าวิธีการรักษาใดดีกว่า ถ้ามีแล้วมีศัลยแพทย์คนไหนทราบเรื่องหลักฐานนั้นบ้างไหม หรือว่าไม่มีใครรู้เลยว่าวิธีใดดีกว่า (ดูภาพ)

แพทย์ทั้งสองรายอาจให้ความสำคัญกับผลการรักษาแตกต่างกัน แพทย์ชาวอเมริกันอาจใส่ใจเรื่องการบรรเทาปวดมากกว่า จึงแนะนำเฝือกแข็ง ขณะที่ฝ่ายแพทย์ชาวสหราชอาณาจักรอาจกังวลว่ากล้ามเนื้ออาจลีบ ซึ่งจะเกิดเมื่อแขนขาถูกตรึงไว้ในเฝือก แต่ถ้าอย่างนั้น ทำไมแพทย์ทั้งสองจึงไม่ถามเอียนเลยว่าผลด้านไหนสำคัญกับผู้ป่วยมากกว่ากัน กระทั่ง 20 ปีต่อมาก็ยังไม่แน่นอนว่าควรดูแลภาวะที่พบได้ดาษดื่นนี้อย่างไร [12]

เรื่องนี้แยกได้หลายประเด็น ประเด็นแรก มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ ซึ่งเปรียบเทียบสองคำแนะนำที่ต่างกันมากหรือไม่ ถ้ามีหลักฐานดังกล่าว แสดงความแตกต่างในผลการรักษา (ในการบรรเทาปวด หรือลดการกล้าม เนื้อลีบ เป็นต้น) ซึ่งอาจสำคัญต่อเอียน หรือผู้ป่วยคนอื่นที่ให้ความสำคัญ ต่างจากเขาหรือเปล่าแล้วจะทำอย่างไร หากไม่มีหลักฐานซึ่งให้ข้อมูลที่ต้องการ

แต่แพทย์บางรายก็เข้าใจดีว่าต้องทำอย่างไรหากไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้เรื่องผลของวิธีการรักษา และพร้อมจะหารือกับผู้ป่วยเรื่องความไม่แน่นอนดังกล่าว เช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้ความเห็นว่า แม้หลักฐานจากการวิจัยแสดงว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีกว่าหากรับการรักษาในหน่วยบริการโรคหลอดเลือดสมอง แต่ยังไม่แน่นอนในผู้ป่วยหลายกลุ่มว่าควรได้รับยาละลายลิ่มเลือดหรือไม่ (ดูเพิ่มเติมในบทที่ 11) เมื่อหารือกับผู้ป่วยเรื่องทางเลือกในการรักษา เขาจะอธิบายว่ายาเหล่านี้อาจมีผลดีมากกว่าผลเสีย แต่ก็อาจกลับกันในผู้ป่วยบางราย และหากเป็นการคุยกับผู้ป่วยที่ระดับความเสี่ยงเทียบกับประโยชน์ยังไม่แน่นอน เขาจะอธิบายต่อว่าทำไมจึงคิดว่าไม่อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้วิธีการรักษานี้ได้ เว้นแต่จะเข้าร่วมการเปรียบเทียบที่ควบคุมอย่างรัดกุม ซึ่งน่าจะช่วยให้กระจ่างขึ้น [13] เพราะยาละลายลิ่มเลือดยังมีความไม่แน่นอนอีกหลายด้าน [14]

เนื้อเรื่องย่อย

 

ถัดไป: คาเฟอีน (Caffeine) เพื่อการรักษาปัญหาการหายใจในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด