วิธีลบปานสตรอว์เบอร์รีแบบใหม่

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: วิธีลบปานสตรอว์เบอร์รีแบบใหม่

บางคราวการค้นพบวิธีรักษาที่เห็นผลเด่นชัดก็เกิดโดยบังเอิญ เช่น ภาวะที่เกิดในทารก ซึ่งเรียกว่า ฮีแมงจิโอมา (Hemangioma) หรือเนื้องอกหลอดเลือด ซึ่งคล้ายกับปานแดงชนิด portwine stains ตรงที่เกิดจากการผิดรูปของหลอดเลือดซึ่งยังเจริญไม่เต็มที่ ในฮีแมงจิโอมาหลอดเลือดขนาดเล็กจะรวมกันเป็นก้อนส่วนใหญ่เกิดบนผิวหนัง โดยมักเป็นที่ศีรษะหรือลำคอ แต่ก็อาจเกิดที่อวัยวะภายใน เช่น ตับ ได้ด้วย รอยที่ผิวหนังชนิดนี้มักเรียกว่าปานสตรอว์เบอร์รี เพราะเป็นสีแดงสดและนูน มักมองไม่เห็น เมื่อแรกเกิด แต่โดยทั่วไปจะปรากฏเมื่ออายุ 1 สัปดาห์ มีแนวโน้มขยายตัวรวดเร็วในช่วง 3 เดือนแรกก่อนจะชะลอลง ส่วนใหญ่จะหายไปเองเมื่อเด็กอายุราว 5 ปี เหลือเพียงรอยสีชมพูซีด หรือผิวหนังย่น

แต่ฮีแมงจิโอมาในบางตำแหน่งก็ต้องได้รับการรักษา เนื่องจากบังดวงตา อุดจมูก หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น ฮีแมงจิโอมาชนิดที่เกิดรอยแผลอาจติดเชื้อ และผู้ป่วยที่มีรอยโรคใหญ่มากอาจมีภาวะหัวใจล้มเหลว เพราะหัวใจต้องสูบฉีดเลือดจำนวนมากผ่านเส้นเลือดในก้อนนูนดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ไม่นาน สเตียรอยด์เป็นทางเลือกแรกในการรักษาฮีแมงจิโอมาชนิดก่อปัญหา กระทั่งปี ค.ศ.2008 แพทย์บังเอิญพบวิธีการรักษาอีกวิธีหนึ่งซึ่งได้ผลดีอย่างเด่นชัด แพทย์กลุ่มนี้เคยใช้สเตียรอยด์รักษาทารกที่มีฮีแมงจิโอมาขนาดใหญ่จนแทบจะคลุมเต็มทั้งใบหน้าและดวงตาข้างขวา แต่ทารกก็ยังมีภาวะหัวใจล้มเหลว พวกเขาจึงต้องรักษาโดยให้เด็กเริ่มใช้ยามาตรฐานเพื่อรักษาภาวะดังกล่าว ชื่อว่า โพรพราโนลอล (propranolol) แต่ประหลาดใจที่อาการฮีแมงจิโอมาเริ่มดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง และภายในสัปดาห์เดียว เนื้องอกดังกล่าวก็หดเล็กลงจนทารกลืมตาได้ หลังรักษาไป 6 เดือน ฮีแมงจิโอมาก็จางหายไป ตลอดปีถัดมา แพทย์กลุ่มนี้จึงใช้โพรพราโนลอลต่อในเด็กอีก 12 ราย และประสบความสำเร็จ แพทย์รายอื่นทำตามในเด็กกลุ่มเล็กๆ และได้ผลน่าชื่นใจเช่นกัน ขณะนี้โพรพราโนลอลกำลังได้รับการศึกษาอย่างละเอียดในทารกจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม [7], [8]

ถัดไปผลการรักษาระดับปานกลาง : พบบ่อยและไม่เด่นชัด