ตั้งโจทย์วิจัยที่เหมาะสม

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: ตั้งโจทย์วิจัยที่เหมาะสม

บางครั้งแพทย์ก็ไม่รู้ว่าวิธีการรักษาใดน่าจะเหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด เพราะทางเลือกที่มียังไม่ได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอ การศึกษาที่มีนัยสำคัญต่อการดูแลผู้ป่วยเช่นนี้ อาจมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมหรือนักวิชาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย คำถามที่สำคัญจึงยังไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายรุนแรง เช่น คำถามว่าการให้สเตียรอยด์ในผู้ที่สมองเสียหายเนื่องจากการบาดเจ็บทางกาย จะเพิ่มหรือลดโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วย มีการใช้สเตียรอยด์ในผู้ป่วยสมองบาดเจ็บอยู่หลายสิบปี ก่อนที่การศึกษาซึ่งออกแบบอย่างมีคุณภาพจะพบว่าวิธีการรักษาที่แพร่หลายนี้ อาจคร่าชีวิตผู้ป่วยไปแล้วหลายพันราย [2] เดิมทีนักวิจัยจากอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยบางส่วนคัดค้านโครงร่างการศึกษานี้ เพราะเหตุใด เนื่องจากนักวิจัยกลุ่มดังกล่าวเข้าร่วมการทดลองเชิงการค้า เพื่อประเมินผลยาใหม่ราคาแพง (ซึ่งเรียกว่าสารปกป้องเซลล์ประสาท [neuroprotective agents]) ที่มีต่อผลการรักษา ซึ่งน่ากังขาว่าผู้ป่วยเห็นว่าสำคัญหรือไม่ จึงไม่อยากต้องแย่งชิงผู้เข้าร่วมการศึกษา

อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องไขปัญหาที่ยังไร้คำตอบ คือให้มั่นใจว่าทรัพยากรเพื่อการดูแลสุขภาพอันมีค่าจะไม่สูญเปล่า เมื่อเริ่มนำสารละลายอัลบูมิน (human albumin solution) ที่ให้โดยหยดเข้าหลอดเลือดดำ มาใช้ในช่วงทศวรรษ 1940 เพื่อกู้ชีพผู้ป่วยที่ถูกไฟลวก หรืออาการวิกฤต มีทฤษฎีชี้ว่าสารนี้น่าจะลดโอกาสที่ผู้ป่วยเสียชีวิต เหลือเชื่อที่ต้องรอจนทศวรรษ 1990 จึงมีการตรวจสอบทฤษฎีนี้อย่างเที่ยงธรรม ขณะนั้น การทบทวนการทดลองแบบสุ่มที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ ไม่พบหลักฐานว่าสารละลายอัลบูมิน ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตเมื่อเทียบกับน้ำเกลือธรรมดา และอันที่จริงหากอัลบูมินจะมีผลต่อการเสียชีวิตอยู่บ้าง ผลนั้นก็คือเพิ่มการเสียชีวิต [3] ผลจากการทบทวนเรื่องนี้กระตุ้นให้แพทย์ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์รวมตัวกัน ทำการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมที่มีขนาดใหญ่มากพอเป็นเรื่องแรก โดยเปรียบเทียบระหว่างสารละลายอัลบูมินกับน้ำเกลือ ซึ่งเป็นสารละลายอีกชนิดที่ใช้ในการกู้ชีพ [4] การศึกษาที่ทำช้าไป 50 ปีเรื่องนี้ไม่พบหลักฐานว่าอัลบูมินดีกว่าน้ำเกลือ เนื่องจากอัลบูมินแพงกว่าน้ำเกลือร่วม 20 เท่า งบประมาณเพื่อการดูแลสุขภาพทั่วโลกจำนวนมหาศาลจึงสูญเปล่ามาตลอดช่วงราว 50 ปีนั้น

ถัดไป: ออกแบบและทำงานวิจัยที่เหมาะสม