องค์กรผู้ป่วย : ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจริงหรือ

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: องค์กรผู้ป่วย : ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจริงหรือ

ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรผู้ป่วยกับอุตสาหกรรมยาก่อให้เกิดการ เอื้อผลประโยชน์ที่ไม่เป็นที่รู้กันนัก องค์กรผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเงินเพียงน้อยนิดดำเนินการโดยอาสาสมัครเป็นหลัก และได้รับทุนจากแหล่งทุนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเป็นเงินไม่มาก การที่บริษัทยาให้เงินสนับสนุนและทำโครงการร่วมกับองค์กรจึงช่วยให้องค์กรเติบโตและมีอิทธิพลมากขึ้น แต่ความสัมพันธ์นี้อาจบิดเบือนประเด็นที่ผู้ป่วยเห็นว่าสำคัญ รวมถึงประเด็นวิจัยให้ผิดไปจากความเป็นจริงได้ การประเมินความหนักหนาของปัญหานี้ทำได้ไม่ง่ายนัก แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจจากการสำรวจเพื่อประเมินว่าเอกชนให้การสนับสนุนองค์กรผู้ป่วย และผู้บริโภคที่ทำงานร่วมกับองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปมากน้อยเพียงใด องค์การดังกล่าวประสานงานการประเมินยาชนิดใหม่ รวมถึงติดตามผลการใช้ยานั้นทั่วยุโรป ทั้งยังเชิญชวนให้กลุ่มผู้ป่วยและผู้บริโภคมีส่วนร่วมในงานด้านการกำกับยาขององค์การอย่างน่ายกย่อง แต่เมื่อสำรวจในช่วงปี ค.ศ. 2006-2008 ใน 23 กลุ่มที่ร่วมงานกับองค์การพบว่า 15 กลุ่ม รับเงินทุนบางส่วนหรือก้อนใหญ่จากผู้ผลิตยาหรือสมาคมอุตสาหกรรมยาทั้งยังมีไม่ถึงครึ่งที่รายงานแหล่งที่มาและจำนวนเงินที่ได้รับให้องค์การยารู้ตามจริง [17]

บางครั้งบริษัทยาก็ตั้งองค์กรผู้ป่วยขึ้นเอง เพื่อให้องค์กรนี้วิ่งเต้นให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท เช่น บริษัทผู้ผลิตอินเทอร์เฟอรอนแห่งหนึ่งตั้งกลุ่มผู้ป่วย “เคลื่อนไหวให้เข้าถึง (Action for Access)” เพื่อโน้มน้าวให้ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติในสหราชอาณาจักรอนุญาตให้ใช้อินเทอร์เฟอรอนในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (ดูข้างต้น) [18, 19] การประชาสัมพันธ์นี้ส่งสารถึงผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ว่าอินเทอร์เฟอรอนมีประสิทธิผลแต่ราคาสูงเกินไป ทั้งที่ประเด็นที่แท้จริงคือยามีประโยชน์บ้างหรือไม่

ถัดไปลดช่องว่างระหว่างผู้ป่วยกับนักวิจัย