บทที่ 4 ลงมือก่อนอาจไม่ดีกว่า

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: บทที่ 4 ลงมือก่อนอาจไม่ดีกว่า

ประเด็นสำคัญ

  • การวินิจฉัยโรค ได้แต่เนิ่นๆ ไม่ได้ทำให้ผลการรักษาดีกว่าเสมอไป เพราะบ้างก็ทำให้แย่ลง
  • โครงการคัดกรองควรเริ่มทำโดยมีหลักฐานเรื่องผลที่แน่ชัด
  • การไม่ดำเนินโครงการคัดกรองเลยอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
  • ผู้ที่ได้รับการเชิญชวนให้เข้ารับการคัดกรองต้องได้ข้อมูลรอบด้าน
  • มักมีการอวดอ้างประโยชน์ของการคัดกรองจนเกินจริง
  • อันตรายของการคัดกรองมักถูกกลบเกลื่อนหรือละเลย
  • จำเป็นต้องมีการสื่อสารที่ดีเกี่ยวกับประโยชน์ อันตราย และความเสี่ยงจากการคัดกรอง

ใน 3 บทแรก ผู้เขียนแสดงให้เห็นแล้วว่าเหตุใดวิธีการรักษาที่ไม่ได้ตรวจสอบอย่างเหมาะสมจึงอาจก่อผลเสียใหญ่หลวง ในบทนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงการคัดกรองเพื่อหาอาการแสดงแรกเริ่มของโรค การคัดกรองดูเหมือนมีเหตุผลรองรับหนักแน่น อีกทั้งน่าจะเป็นวิธีที่ดีเยี่ยมในการป้องกันโรคร้ายและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง แต่การคัดกรองซึ่งเป็นประโยชน์ในหลายๆ อาการกลับมีผลเสียเช่นเดียวกับผลดี

จากคนธรรมดากลายเป็นผู้ป่วย

การคัดกรองทำให้คนที่มีผลการทดสอบ “เป็นบวก” กลับกลายเป็นผู้ป่วย การเปลี่ยนสถานะเช่นนี้ต้องไตร่ตรองให้ดีก่อนทำ

อ่านต่อ

ในบทนี้  ผู้เขียนหยิบยกตัวอย่างจากโรคต่างๆ มาแสดงว่าทำไมการวินิจฉัยโรคได้แต่เนิ่นๆ อาจไม่ดีกว่าเสมอไป เหตุใดการคัดกรองหลายชนิดจึงไร้ประโยชน์ หรือไม่แน่ชัดว่ามีประโยชน์ อีกทั้งเหตุใดจึงมักยกย่องการคัดกรองเกินจริง พร้อมกับกลบเกลื่อนหรือไม่สนใจผลเสีย

ต้องไตร่ตรองให้ดีก่อนทำการคัดกรองหาผู้ป่วยในหมู่คนสุขภาพดี เพราะมีผลเสียสำคัญซึ่งต้องระวัง การคัดกรองเป็นมาตรการทางการแพทย์ เช่นเดียวกับการให้ประชาชนเลือกเข้ารับการคัดกรองได้ โดยคนที่เลือกไม่เข้ารับการคัดกรองก็จะคาใจว่าตัดสินใจ  “ถูกต้อง”  หรือไม่ ซึ่งเป็นนิสัยของมนุษย์ แต่การไม่มีตัวเลือกเลยนั้นต่างกันมาก

ทางที่ดีที่สุด ควรคัดกรองเพื่อให้คนที่ไม่มีอาการผิดปกติหายกังวล หรือได้รับการรักษา เฉพาะเมื่อมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า (ก) การคัดกรองมีผลดีมากกว่าผลเสีย โดยมีค่าใช้จ่ายที่จ่ายไหว (ข) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มีคุณภาพ ซึ่งดำเนินงานอย่างเป็นระบบ[1]

การคัดกรองไม่ได้เป็นเพียงการตรวจหาโรค “ครั้งเดียวจบ” ประชาชนที่ถูกเชิญชวนให้รับการคัดกรองจึงต้องได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมถึงเป็นกลางอย่างเพียงพอ เพื่อให้ตัดสินใจได้ว่าจะรับคำเชิญนี้หรือไม่ กล่าวอีกอย่างคือ พวกเขาต้องรู้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง[2]

ในแง่หนึ่ง การคัดกรองอาจมองได้ดังนี้

การคัดกรอง = การตรวจหาโรคบวกกับแนวทางจัดการโรคที่มีประสิทธิผล

ถัดไปบทเรียนจากการคัดกรองโรคนิวโรบลาสโตมา (neuroblastoma)