บทที่ 7 คำนึงถึงผลจากความบังเอิญ

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: บทที่ 7 คำนึงถึงผลจากความบังเอิญ

ประเด็นสำคัญ

  • ต้องมีการพิจารณา “ผลของความบังเอิญ” โดยประเมินว่าเชื่อมั่นคุณภาพและจำนวนของหลักฐานที่มีได้เพียงใด

ความบังเอิญและกฎว่าด้วยจำนวนมาก

การป้องกันความลำเอียง (และการแก้ไขความลำเอียงที่ไม่ได้ป้องกันไว้) ทำให้หลักฐานเกี่ยวกับผลการรักษาเชื่อถือได้ หากการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมขาดองค์ประกอบเหล่านี้ ต่อให้ปรับผลจากการวิจัยอย่างไรก็ไม่อาจแก้ปัญหารวมถึงผลกระทบจากปัญหาที่อาจคร่าชีวิตได้ (ดูบทที่ 1 และ 2) และแม้เมื่อลดความลำเอียงได้ด้วยขั้นตอนต่างๆ แล้ว เราก็ยังอาจถูกความบังเอิญหลอกเอาได้

ทุกคนรู้ว่าถ้าโยนเหรียญซ้ำๆ จะออกหัวหรือก้อย “ติดกัน” 5 ครั้งขึ้นไปก็ไม่แปลก แต่ยิ่งโยนมากครั้งขึ้น ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่สุดท้ายจำนวนครั้งที่ออกหัวจะพอๆ กับก้อย

เมื่อเปรียบเทียบวิธีการรักษา 2 ชนิด ผลที่ได้อาจแตกต่างกันเพราะความบังเอิญเช่นนี้ เช่น ผู้ป่วยร้อยละ 40 เสียชีวิตหลังจากได้รับวิธีการรักษา A และผู้ป่วยที่คล้ายคลึงกันร้อยละ 60 เสียชีวิตหลังจากได้รับวิธีการรักษา B ตารางที่ 1 แสดงผลที่คาดว่าจะเกิดหากผู้ป่วย 10 รายได้รับวิธีการรักษาแต่ละวิธี “อัตราส่วนความเสี่ยง (risk ratio)” แสดงความแตกต่างของจำนวนผู้เสียชีวิตในทั้งสองกลุ่ม ซึ่งในตัวอย่างนี้คือ 0.67

วิธีการรักษา A วิธีการรักษา B อัตราส่วนความเสี่ยง
จำนวนผู้เสียชีวิต 4 6 (4:6 =) 0.67
จากทั้งหมด (รวม) 10 10
ตารางที่ 1 การศึกษาขนาดเล็กนี้ให้ค่าประมาณของความแตกต่างระหว่างวิธีการรักษา A และวิธีการรักษา B อย่างเชื่อถือได้หรือไม่

หากสรุปว่าวิธีการรักษา A ดีกว่า B จากผู้ป่วยจำนวนน้อยเช่นนี้ จะสมเหตุสมผลหรือไม่ คงไม่เพราะผู้ป่วยบางรายในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจอาการดีขึ้นโดยบังเอิญ ถ้าเปรียบเทียบซ้ำในผู้ป่วยกลุ่มเล็กๆ กลุ่มอื่น จำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละกลุ่มอาจกลับกัน (6 รายกับ 4 ราย) หรือปรากฏว่าเท่ากัน (5 รายกับ 5 ราย) หรือในอัตราส่วนอื่น เพียงเพราะบังเอิญ

หากหลังจากผู้ป่วย 100 รายได้รับวิธีการรักษาแต่ละวิธี อัตราส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตในแต่ละกลุ่มเป็นเท่าเดิม (ร้อยละ 40 และร้อยละ 60) (ตาราง ที่ 2) คุณคิดว่าจะพบอะไร แม้ความแตกต่าง (อัตราส่วนความเสี่ยง) ที่ได้ จะเท่ากับการเปรียบเทียบในตารางที่ 1 (0.67) แต่ความแตกต่างระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิต 40 รายเทียบกับ 60 ราย น่าประทับใจกว่า 4 รายเทียบกับ 6 ราย และมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเป็นผลจากความบังเอิญ

ตาราง 2 การศึกษาขนาดกลางนี้ให้ค่าประมาณของความแตกต่างระหว่างวิธีการรักษา A และวิธีการรักษา B อย่างน่าเชื่อถือได้หรือไม่
วิธีการรักษา A วิธีการรักษา B อัตราส่วนความเสี่ยง
จำนวนผู้เสียชีวิต 40 60 (40:60 =) 0.67
จากทั้งหมด (รวม) 100 100

ดังนั้น วิธีเลี่ยงไม่ให้ถูกความบังเอิญตบตาเมื่อเปรียบเทียบวิธีการรักษา คือต้องตั้งข้อสรุปจากการศึกษาในผู้ป่วยจำนวนมากพอ ซึ่งเสียชีวิตอาการทรุด ทรง หรือทุเลา บางครั้งก็เรียกการทำอย่างนี้ว่า “กฎว่าด้วยจำนวนมาก”

ถัดไปการประเมินผลจากความบังเอิญในการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรม