ไดเอทิลสติลเบสทรอล (Diethylstillbestrol หรือ DES)

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: ไดเอทิลสติลเบสทรอล

นานมาแล้วแพทย์ไม่แน่ใจว่าหญิงมีครรภ์ซึ่งเคยแท้งและทารกเสียชีวิตในครรภ์ ควรได้เอสโตรเจน[ช]สังเคราะห์ (ไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ) ที่เรียก ว่า DES เสริมหรือไม่ จึงมีแพทย์เพียงบางรายสั่งยานี้ DES เริ่มเป็นที่นิยมในช่วงต้นทศวรรษ 1950 เพราะความคิดที่ว่ามันช่วยแก้อาการที่รกทำงานผิดปกติ ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา กลุ่มที่ใช้ยามั่นใจขึ้นด้วยรายงานจากประสบการณ์ของหญิงที่เคยแท้งและทารกเสียชีวิตในครรภ์ แต่คลอดทารกปลอดภัยหลังใช้ DES

ตัวอย่างเช่น สูตินรีแพทย์ชาวสหราชอาณาจักรสั่งยา DES ให้หญิงมีครรภ์รายหนึ่งตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากเธอเคยแท้งลูก 2 คนในการตงครรภ์ครั้งที่สามทารกคลอดปลอดภัยดี สูตินรีแพทย์จึงคิดว่า ความสามารถ “ตามธรรมชาติ” ในการคลอดลูกของแม่รายนี้คงดีขึ้นแล้ว เมื่อตั้ง ครรภ์ครั้งที่สี่ จึงไม่ให้ยา DES ปรากฏว่าทารกเสียชีวิตในครรภ์ เนื่องจาก “ภาวะรกเสื่อม (Placental Insufficiency)”[ซ] ดังนั้น ในการตั้งครรภ์ครั้งที่ห้าและหก สูตินรีแพทย์และหญิงรายนี้จึงมั่นใจว่าต้องใช้ DES ซึ่งก็คลอดลูกอย่างปลอดภัยทั้งสองครั้ง ทั้งสูตินรีแพทย์และหญิงรายนี้จึงสรุปว่า DES เป็นยาที่มีประโยชน์ แต่น่าเสียดายที่การตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมไม่เคยพบว่าข้อสรุปจากประสบการณ์นั้นถูกต้อง ในช่วงเดียวกับที่หญิงรายนั้นได้รับยาก็มีการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพดำเนินการและออกรายงานอยู่หลายเรื่อง แต่ไม่พบหลักฐานว่า DES มีประโยชน์ [5]

แม้จะไม่มีหลักฐานจากการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมว่า DES มีประโยชน์ในการป้องกันการแท้ง เรื่องราวของ DES ก็ยังไม่จบแค่นั้น เพราะ 20 ปีต่อมาก็เริ่มมีหลักฐานแสดงถึงอาการข้างเคียงร้ายแรง เมื่อมารดาของหญิงสาวที่เป็นมะเร็งช่องคลอดชนิดหายาก ตั้งข้อสังเกตที่สำคัญมากว่า ตนเคยได้รับ DES ระหว่างตั้งครรภ์ เธอชี้ว่าโรคมะเร็งของบุตรสาวอาจเป็น ผลจากยาดังกล่าว[6] คราวนี้เป็นข้อสังเกตที่ถูกต้อง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือได้มีการพิสูจน์แล้วว่าถูกต้อง เพราะหลังจากนั้นมีการศึกษาจำนวนมากที่พบ ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงหลายอย่างของ DES ทั้งในชายและหญิงที่เคยได้รับ DES ตอนอยู่ในครรภ์ อาการข้างเคียงเหล่านี้ไม่ใช่แค่เพิ่มความถี่ของโรคมะเร็งหายากต่างๆ แต่ยังรวมถึงความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ด้วย

กว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าไม่ควรใช้ DES ในหญิงมีครรภ์ คนหลายล้านก็ได้รับยานี้แล้ว อย่างที่เรารู้ตอนนี้ หากแพทย์ใช้หลักฐานเกี่ยวกับ DES ที่เชื่อถือได้มากที่สุดที่มีในช่วงทศวรรษ 1950 จะมีคนได้รับยานี้ลดลงมาก เพราะไม่เคยพิสูจน์ได้ว่า ใช้ DES ได้ผลกับภาวะรกเสื่อม จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่แทบทุกคนมองข้ามการไม่มีหลักฐานสนับสนุนประโยชน์ของยานี้เลย [7]

[ช] estrogen ฮอร์โมนเพศหญิง

[ซ] ภาวะที่รกทำงานผิดปกติจนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ จนทารกอาจพิการแต่กำเนิด  เสียชีวิตในครรภ์ หรือเสียชีวิตหลังคลอด

ถัดไปการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy)