GET-IT Jargon Buster
About GET-IT
GET-IT provides plain language definitions of health research terms
น่าเสียดายที่บางครั้งงานวิจัยก็ขาดคุณภาพ หรือไม่ตรงประเด็น ดังตัวอย่างในอาการที่ทรมาน เรียกว่ากลุ่มอาการเคลื่อนไหวผิดปกติจากยา (tardive dyskinesia) ซึ่งเป็นผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาต้านอาการทางจิต (antipsychotic) เป็นเวลานานเพื่อรักษาโรคทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคจิตเภท อาการเด่นที่สุดคือ การที่ปากและใบหน้าขยับเองซ้ำๆ ทั้งหน้า บูดเบี้ยว เลียปาก แลบลิ้นบ่อยๆ และดูดกระพุ้งแก้ม หรือทำแก้มพอง โดยอาจมีมือเท้ากระตุกร่วมด้วย ผู้ป่วย 1 ใน 5 รายที่ใช้ยาต้านอาการทางจิตเกิน 3 เดือนจะประสบผลข้างเคียงเหล่านี้
ในทศวรรษ 1990 นักวิจัยกลุ่มหนึ่งเริ่มศึกษาอย่างเป็นระบบว่าย้อนไป 30 ปีมีการใช้วิธีใดรักษาอาการเคลื่อนไหวผิดปกตินี้บ้าง พวกเขาเขียนในปี ค.ศ. 1996 ว่าค่อนข้างประหลาดใจที่พบการทดลองแบบสุ่มถึงกว่า 500 โครงการเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาต่างๆ 90 ชนิด แต่ไม่มีการทดลองใดให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ บางการทดลองทำในผู้ป่วยจำนวนน้อยจนผลไม่น่าเชื่อถือ ส่วนอีกหลายการทดลองก็ให้ยาระยะสั้นจนไร้ประโยชน์ [11] ต่อมาสมาชิกในกลุ่มวิจัยนี้ยังตีพิมพ์การวิเคราะห์ที่รอบด้าน ทั้งในแง่เนื้อหาและคุณภาพของการทดลองแบบสุ่มเรื่องวิธีการรักษาโรคจิตเภทโดยรวม พวกเขาพิจารณาการทดลองกว่า 2,000 โครงการ สิ่งที่พบน่าผิดหวังกล่าวคือ เมื่อเวลาผ่านไป ยาต้านอาการทางจิตได้ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ป่วยโรคจิตเภทในบางด้าน เช่น ปัจจุบันผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านหรือในชุมชนได้ แต่กระทั่งในทศวรรษ 1990 (รวมถึงทุกวันนี้) ยาส่วนใหญ่กลับถูกตรวจสอบเฉพาะกับผู้ป่วยใน จึงไม่แน่ชัดว่าปรับใช้ผลการทดลองกับการรักษาผู้ป่วยนอกได้หรือไม่ ที่สำคัญ วิธีการประเมินผลยังขัดแย้งกันจนน่าแปลกใจ นักวิจัยพบว่าการทดลองตรวจสอบกว่า 600 วิธีการรักษาโดยส่วนใหญ่เป็นยา ทว่าก็มีการบำบัดจิตด้วย แต่ใช้มาตรวัดต่างๆ ถึง 640 แบบในการวัดผลโดยมี 369 แบบที่พบในการศึกษาเพียงเรื่องเดียว จึงแทบไม่อาจเปรียบเทียบผลการรักษาข้ามการทดลองและแพทย์ หรือผู้ป่วยก็แทบไม่อาจแปลผลจากการศึกษาเหล่านี้ นอกจากนี้นักวิจัยยังพบปัญหา อื่นๆ เช่น หลายการศึกษามีขนาดเล็ก หรือมีระยะสั้นจนผลที่ได้ไร้ประโยชน์ ทั้งยังมักเปรียบเทียบวิธีการรักษาด้วยยาใหม่กับยาที่รู้กันดีว่ามีผลข้างเคียงในปริมาณสูงเกินควร ทั้งที่มีตัวเปรียบเทียบที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า การตรวจสอบนี้จึงลำเอียงชัดเจน ผู้เขียนการทบทวนวรรณกรรมเรื่องนี้สรุปว่า เนื่องจากการศึกษาตลอดครึ่งศตวรรษนั้นด้อยคุณภาพ ระยะสั้นเกินไป และไม่มีประโยชน์ทางการรักษา จึงต้องมีการทดลองอีกมากที่วางแผนอย่างมีคุณภาพ ดำเนินการอย่างเหมาะสม และรายงานครบถ้วนสมบูรณ์ [12]
ถัดไป: การให้ยาแก้ปวดทางไขสันหลัง (Epidural analgesia)[น] ในหญิง ใกล้คลอด
[น] หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการบล็อกหลัง
GET-IT provides plain language definitions of health research terms