การประเมินผลจากความบังเอิญในการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรม

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: การประเมินผลจากความบังเอิญในการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรม

ผลจากความบังเอิญอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ 2 ลักษณะในการแปลผลการเปรียบเทียบวิธีการรักษาอย่างเที่ยงธรรม คือเราอาจสรุปพลาดว่าวิธีการรักษาให้ผลการรักษาต่างกัน ทั้งที่จริงไม่ต่าง หรือกลับกัน ยิ่งสนใจสังเกตผลการรักษาจำนวนมากเท่าใด แนวโน้มที่เราจะเข้าใจผิดเช่นนี้ก็ยิ่งต่ำลงเท่านั้น

การหา “ความแตกต่างที่แท้จริง” ระหว่างวิธีการรักษาต่างๆ นั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่อาจเปรียบเทียบวิธีการรักษาในคนทุกคนที่เป็น หรือจะเป็นโรคนั้น การศึกษาจึงต้องพยายามคาดเดาให้ใกล้เคียงที่สุดแทนว่าความแตกต่างที่แท้จริงน่าจะเป็นเท่าไร

The 95% Confidence Interval (CI) for the difference between Party A and Party B narrows as the number of people polled increases.

ช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 ของความแตกต่างระหว่างพรรค A และ B แคบลงเมื่อจำนวนคนที่สำรวจเพิ่มขึ้น

ความน่าเชื่อถือของความแตกต่างที่ประมาณได้มักแสดงในรูป “ช่วงความเชื่อมั่น (confidence interval)” โดยระบุช่วงที่น่าจะครอบคลุมความแตกต่างที่แท้จริง คนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกับหลักการเรื่องช่วงความเชื่อมั่นอยู่แล้ว แต่อาจไม่ใช่ในชื่อนี้ เช่น ช่วงก่อนเลือกตั้ง ผลการสำรวจความคิดเห็นอาจรายงานว่าพรรค A มีคะแนนนำพรรค B อยู่ร้อยละ 10 จุด แต่รายงานยังมักระบุด้วยว่าคะแนนดังกล่าวอาจต่างกันเพียงร้อยละ 5 จุด หรือมากถึงร้อยละ 15 จุด “ช่วงความเชื่อมั่น” นี้ ชี้ว่าทั้งสองพรรคน่าจะมีคะแนน ที่แท้จริงต่างกันในช่วงร้อยละ 5-15 จุด ยิ่งสำรวจคนจำนวนมาก ผลที่ได้ก็จะยิ่งแน่ชัดขึ้น และช่วงความเชื่อมั่นของค่าประมาณความแตกต่างก็จะยิ่งแคบลงด้วย

เช่นเดียวกับที่เราสามารถประเมินว่า ส่วนต่างสัดส่วนผู้ที่ลงคะแนนให้แต่ละพรรคอาจต่างจากที่คาดมากน้อยเพียงใด เราก็สามารถประเมินว่า ส่วนต่างสัดส่วนผู้ป่วยที่อาการทุเลาหรือทรุดลงหลังได้รับวิธีการรักษา แต่ละวิธีอาจต่างจากที่คาดมากน้อยเพียงใด และเช่นกัน ยิ่งสังเกตผลการรักษาจากวิธีนั้นๆ เช่น การฟื้นตัวหลังจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจำนวนมากขึ้น ช่วงความเชื่อมั่นก็จะแคบตาม โดยช่วงความเชื่อมั่นนั้น “ยิ่งแคบยิ่งดี”

มักมีการระบุร่วมด้วยว่าเรามั่นใจได้มากน้อยเพียงใดว่า ค่าที่แท้จริงจะอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นที่คาดการณ์ไว้ เช่น “ช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95” แปลว่าเรามั่นใจได้ร้อยละ 95 ว่าค่าที่แท้จริงของค่าคาดการณ์อยู่ในช่วงความเชื่อมั่นนั้น ซึ่งหมายความว่ามีโอกาส 5 ใน 100 (ร้อยละ 5) ที่ความจริงค่า “จริง”  อยู่นอกช่วงดังกล่าว

ถัดไปวิธีการรักษา “แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ” แปลว่าอะไร