การเปรียบเทียบกลุ่มผู้ป่วยที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งได้รับวิธีการรักษาต่างกันในช่วงเวลาเดียวกัน

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: การเปรียบเทียบกลุ่มผู้ป่วยที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งได้รับวิธีการรักษาต่างกันในช่วงเวลาเดียวกัน

การเปรียบเทียบความรู้สึกและผลการรักษาของผู้ป่วยที่คล้ายคลึงกัน แต่บังเอิญได้รับการรักษาแตกต่างกันในช่วงเวลาเดียวกัน ยังเป็นวิธีที่ใช้เพื่อประเมินผลของวิธีการรักษา ทว่าแนวทางนี้ก็อาจทำให้เข้าใจผิดโดยสิ้นเชิงเช่นกัน ปัญหาไม่ต่างจากการเปรียบเทียบโดยใช้ “กลุ่มควบคุมในอดีต” คือจะรู้ได้อย่างไรว่าก่อนเริ่มรักษา กลุ่มคนที่ได้รับวิธีการรักษาต่างๆ คล้ายกันจนเปรียบเทียบได้อย่างเที่ยงตรง หรือพูดอีกอย่างคือ สิ่งที่เปรียบเทียบคล้ายคลึงกันจริงหรือเปล่า ในกรณี “กลุ่มควบคุมในอดีต” นักวิจัยอาจใช้การปรับค่าทางสถิติและการวิเคราะห์ เพื่อให้แน่ใจว่าคล้ายคลึงกัน แต่ ก็ทำได้เฉพาะเมื่อมีการบันทึกและพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องด้วย แต่น้อยครั้งที่เกิดกรณีตรงเงื่อนไขเหล่านี้ การแปลผลการวิเคราะห์จึงต้องใช้ความระมัดระวัง หากหลงเชื่ออาจก่อให้เกิดเหตุสลดครั้งใหญ่

ตัวอย่างสำคัญคือเรื่องฮอร์โมนทดแทน มีการเปรียบเทียบกลุ่มคนที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนในระหว่างและหลังจากหมดประจำเดือน กับกลุ่มคนคล้ายคลึงกันที่ไม่เคยได้รับฮอร์โมนดังกล่าว การเปรียบเทียบนี้ชี้ว่าฮอร์โมนทดแทนลดความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งหากเป็นจริงจะเป็นข่าวน่ายินดี แต่น่าเสียดายที่ไม่จริง การเปรียบเทียบครั้งต่อๆ มา ซึ่งวางแผนก่อนเริ่มให้การรักษาเพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มที่เปรียบเทียบคล้ายคลึงกันจริง แสดงว่าการ

รักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนให้ผลตรงกันข้าม เพราะมันเพิ่มจำนวนการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมอง (ดูบทที่ 2) ในกรณีนี้ การที่อัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมองดูต่างกัน เกิดเพราะผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนมีสุขภาพโดยรวมแข็งแรงกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมน ไม่ใช่เพราะฮอร์โมนทดแทน งานวิจัยที่ขาดการตรวจตราว่าสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบคล้ายคลึงกันจริง อาจให้โทษแก่ผู้คนนับหมื่น

ดังจะเห็นได้จากกรณีการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน วิธีที่ดีที่สุดที่จะแน่ใจได้ว่าสิ่งที่เปรียบเทียบคล้ายคลึงกัน คือการจัดกลุ่มเปรียบเทียบก่อนเริ่มการรักษา แต่ละกลุ่มต้องประกอบด้วยผู้ป่วยที่เหมือนกัน  ทั้งในแง่ปัจจัยที่รู้และมีการตรวจวัด เช่น อายุและความรุนแรงของโรค รวมถึงปัจจัยที่ไม่ได้ตรวจวัด ซึ่งอาจมีผลต่อการหายป่วย เช่น อาหาร อาชีพ และปัจจัยอื่นๆ ด้านสังคม และความกังวลเกี่ยวกับโรค หรือวิธีการรักษาที่จะได้รับ เป็นต้น เราแทบไม่อาจมั่นใจได้ว่าแต่ละกลุ่มคล้ายคลึงกัน หากจัดกลุ่มหลังจากเริ่มการรักษาแล้ว

คำถามต่อไปนี้จึงสำคัญ คือ ผลการรักษาที่แตกต่างกันเกิดจากวิธีการรักษาที่นำมาเปรียบเทียบให้ผลต่างกัน หรือว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่นำมาเปรียบเทียบแตกต่างกันกันแน่

Nextการจัดสรรวิธีการรักษาต่างๆ ตามแผนโดยไม่ลำเอียง