การให้การรักษาโดยเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรม

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: การให้การรักษาโดยเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรม

ถ้าอย่างนั้น ควรทำอย่างไรเมื่อมีความไม่แน่นอนที่สำคัญเกี่ยวกับผลของวิธีการรักษาทั้งใหม่หรือเก่า ซึ่งยังไม่ได้รับการประเมินอย่างเหมาะสม คำตอบที่เห็นชัดคือ ควรทำตามอย่างแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งผู้เขียนกล่าวถึงข้างต้น คือแก้ไขความไม่แน่นอนนั้น โดยใช้วิธีการรักษาที่ยังไม่ได้รับการประเมินอย่างเพียงพอเฉพาะเมื่ออยู่ในงานวิจัย ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อให้ทราบมากขึ้นเกี่ยวกับผลทั้งที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนา

นักจริยธรรมทางการแพทย์กล่าวไว้ดังนี้

“ถ้าเราไม่แน่ใจข้อดีของวิธีการรักษา (ใดๆ) เราก็ไม่อาจแน่ใจถึงประโยชน์เมื่อใช้แต่ละวิธี เช่น ในการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้น การยืนกรานว่าวิธีการรักษานี้ดีหรือไม่ดี ระหว่างงานวิจัยที่มีคุณภาพยังไม่เสร็จสิ้นจึงไม่สมเหตุสมผล ซ้ำยังผิดจริยธรรม คำตอบของคำถามว่า ‘วิธีการรักษาใดดีต่อผู้ป่วยที่สุด’ จึงเป็น ‘การทดลอง’ การทดลองคือวิธีที่ดีที่สุด จริงอยู่ว่าเป็นการลองผิดลองถูก แต่ในแง่หนึ่งมันคือการเลือกโดยยังมีความไม่แน่นอน แล้วเก็บข้อมูลตามตรรกะต่อให้ ‘สุ่ม’ เลือกก็ไม่เป็นปัญหาเลย เพราะวิธีนี้คงดีที่สุดเมื่อต้องเลือกทั้งที่ยังไม่แน่นอน” [22]

การให้การรักษาโดยเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมสามารถเปลี่ยนผลการรักษาผู้ป่วยหลายรายจากหน้ามือเป็นหลังมือ กรณีมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กเป็นตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด ก่อนทศวรรษ 1960 เด็กที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวแทบทุกคนจะเสียชีวิตหลังจากวินิจฉัยโรคได้ไม่นาน แต่ในปัจจุบันเด็กรอดชีวิตถึงราว 85 จาก 100 ราย ความสำเร็จนี้เกิดได้เพราะเด็กส่วนใหญ่ที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเข้าร่วมการทดลองแบบสุ่ม ซึ่งเปรียบเทียบวิธีการรักษามาตรฐานในปัจจุบันกับวิธีการรักษาใหม่ในกลุ่มเดียวกัน [23] เด็กที่เป็นมะเร็งส่วนใหญ่ได้เลือกวิธีที่ดีที่สุดด้วยการเข้าร่วม การทดลองเหล่านั้น

หากไม่มีการทดลองในลักษณะดังกล่าว อย่างน้อยก็ควรมีมาตรฐานในการบันทึกผลของวิธีการรักษาใหม่ซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจสอบ เช่น บันทึกตามรายการของวิธีตรวจในห้องปฏิบัติการและอื่นๆ ซึ่งจะใช้วินิจฉัยอาการนั้นๆ รวมถึงวิธีตรวจเพื่อประเมินผลกระทบจากวิธีการรักษาดังกล่าว อาจมีการลงทะเบียนแผนการตรวจในฐานข้อมูล ดังที่การทดลองในคนควรทำ(ดูบทที่ 8) เช่นนี้แล้ว  ผลเหล่านั้นจะเสริมเข้าในองค์ความรู้ เพื่อประโยชน์ทั้งของผู้ป่วยที่ได้รับวิธีการรักษาซึ่งยังไม่ได้ตรวจสอบ และผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่ผ่านมามีการลงเงินมหาศาลไปกับระบบสารสนเทศด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งนำมาใช้บันทึกข้อมูลดังกล่าวได้โดยสะดวกเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยและสาธารณชน [24] (ดูเพิ่มเติมในบทที่ 11)

การจะแก้ไขความไม่แน่นอนอย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยจะมีการกล่าวถึงบางประเด็นในบทต่อๆ ไป โดยเฉพาะการให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น (ดูบทที่ 11 และ 12) แต่ผู้เขียนได้เอ่ยถึงประเด็นหนึ่งคร่าวๆ ไปแล้วข้างต้น จึงอยากขยายความไว้ ณ ที่นี้ คือเมื่อมีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับผลของวิธีการรักษาหนึ่งๆ เราอาจเพิ่มพูนความรู้ได้ โดยต้องแน่ใจว่าแพทย์จะใช้วิธีการรักษานั้นเฉพาะเมื่อเข้าร่วมการประเมินอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จนกว่าจะทราบมากยิ่งขึ้นถึงประโยชน์และผลเสียที่อาจได้รับ แต่ทัศนคติบางอย่างที่มีอยู่แต่เดิม รวมถึงระบบกำกับดูแลการวิจัย (ดูบทที่ 9) กลับขัดขวางวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงนี้

เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ปัญหานี้กวนใจกุมารแพทย์ชาวสหราชอาณาจักร เขาวิจารณ์ตรงประเด็นว่าเขาต้องขออนุญาตก่อนรักษาผู้ป่วยครึ่งหนึ่งด้วยวิธีการรักษาหนึ่ง (กล่าวคือทำการเปรียบเทียบแบบมีกลุ่มควบคุมเพื่อวัดผลของวิธีการรักษานั้นๆ โดยรักษาผู้ป่วยครึ่งหนึ่งด้วยวิธีการรักษาใหม่และอีกครึ่งหนึ่งด้วยวิธีการรักษาเดิม) แต่ไม่ต้องขออนุญาตหากอยากใช้วิธีการรักษาดังกล่าวกับผู้ป่วยทุกคนในฐานะวิธีการรักษามาตรฐาน [25] ความลักลั่นไร้เหตุผลนี้ยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ บั่นทอนกำลังใจแพทย์ที่อยากลดความไม่แน่นอนของผลของวิธีการรักษาที่ตนใช้ ผลคือผู้ระกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอาจถูกขัดขวางไม่ให้สร้างองค์ความรู้จากประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วย ดังที่นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ชาร์ลส บอสก์ กล่าวว่า “เราจำต้องยอมรับทุกสิ่งตราบที่เราไม่รู้จักเรียนรู้จากประสบการณ์”

แพทย์ต้องมีทักษะและรู้จักประมาณตนจึงจะอธิบายความไม่แน่นอนได้กระจ่าง แพทย์จำนวนมากลำบากใจเมื่อต้องอธิบายให้ผู้ที่อาจเข้าร่วมการทดลองฟังว่าไม่มีใครรู้ว่าวิธีการรักษาใดดีที่สุด ทว่าทัศนคติ ของประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว แพทย์ถือดีที่ “สวมบทพระเจ้า” ถูกมองเมินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราควรมุ่งเน้นการสอนแพทย์ให้กล้ายอมรับความจริงว่าตนก็เป็นมนุษย์ซึ่งต้องการความช่วยเหลือ และให้ผู้ป่วยเข้าร่วมงานวิจัยเพื่อให้มั่นใจได้ยิ่งขึ้นเกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ ในการรักษา (ดูบทที่ 11 และ 12) อุปสรรคใหญ่ของแพทย์และผู้ป่วยจำนวนมากคือ ความไม่คุ้นเคยกับองค์ประกอบของการตรวจสอบวิธีการรักษาอย่างเที่ยงธรรม ซึ่งเราจะกล่าวถึงในบทต่อไป (ดูบทที่ 6)

เพิ่มเติมเอกสารอ้างอิง (บทที่ 5)

บทถัดไป: บทที่ 6 การตรวจสอบวิธีการรักษาอย่างเที่ยงธรรม