อะแวนเดีย (Avandia)

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: อะแวนเดีย

ในปี ค.ศ. 2010 โรสิกลิทาโซน (Rosiglitazone) ซึ่งมักรู้จักกันในชื่อการค้าว่าอะแวนเดีย เป็นยาอีกชนิดหนึ่งที่เป็นข่าวโด่งดัง เนื่องจากผลข้างเคียงเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ก่อนหน้านั้น 10 ปี อะแวนเดีย ได้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานควบคุมยาในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในฐานะทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีสาเหตุจากร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลิน[ง]ไม่เพียงพอ หรือเมื่อเซลล์ในร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน  และพบได้บ่อยกว่าเบาหวานชนิดที่ 1  ซึ่งร่างกายไม่ผลิตอินซูลินเลยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มักมาพร้อมกับโรคอ้วน รักษาได้ผลด้วยการปรับอาหาร การออกกำลังกาย และใช้ยากินโดยไม่ต้องฉีดอินซูลิน อาการแทรกซ้อนใน ระยะยาวของเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ การเพิ่มความเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น เป้าหมายหลักในการรักษา คือลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนเหล่านี้ มีการประชาสัมพันธ์ว่าอะแวนเดียออกฤทธิ์แบบใหม่ โดยช่วยให้อินซูลินที่ร่างกายผลิตเองทำงานได้ดีขึ้น และว่ากันว่าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ายาเก่าๆ กล่าวคือ เน้นประชาสัมพันธ์แต่เรื่องระดับน้ำตาลในเลือด ไม่เน้นเรื่องอาการแทรกซ้อนร้ายแรง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานจนเสียชีวิต

ตอนอะแวนเดียได้รับการอนุมัติให้จำหน่าย มีหลักฐานจำกัดเรื่องประสิทธิผลของยานี้ และไม่มีหลักฐานเลยว่ามันมีผลอย่างไรต่อความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมอง หน่วยงาน กำกับยาขอให้บริษัททำการศึกษาเพิ่มเติม แต่ระหว่างนั้นได้มีการสั่งใช้อะแวนเดียกันแพร่หลายทั่วโลก โดยรายงานผลข้างเคียงด้านหัวใจกับหลอดเลือดเริ่มปรากฏขึ้นและยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงปี ค.ศ. 2004 องค์การ อนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) กังวลจนต้องขอให้บริษัททบทวนหลักฐานเกี่ยวกับอาการแทรกซ้อนเหล่านี้ ซึ่งบริษัทก็ทำ และยืนยันว่ายาเพิ่มความเสี่ยงจริง[6]

หน่วยงานกำกับยาใช้เวลาอีก 6 ปีกว่าจะพิจารณาหลักฐานโดยละเอียดแล้วดำเนินการในเดือนกันยายน ค.ศ. 2010 องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาประกาศว่าจะจำกัดการใช้อะแวนเดียลงให้เหลือแค่ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ใช้ยาชนิดอื่นแล้วไม่ได้ผล ในเดือนเดียวกัน องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency) เสนอให้เลิกใช้อะแวนเดียภายใน 2 เดือน หน่วยงานกำกับยาทั้งสองยกความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมองมาเป็นเหตุของการตัดสินใจ ขณะเดียวกันนักวิจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทยาพบว่าหน่วยงานกำกับยาพลาดโอกาสดำเนินการก่อนหน้านั้นไปหลายครั้ง และมีความจำเป็นที่หน่วยงานกำกับยากับแพทย์ต้อง “เรียกหาหลักฐานที่ดีกว่านี้ก่อนให้เริ่มใช้ยาในวงกว้างกับผู้ป่วยจำนวนมากที่หวังพึ่งเราให้แนะนำและรักษา” ดังที่บุคลากรทางการแพทย์กลุ่มหนึ่งกล่าวไว้[7]

[ง] insulin ฮอร์โมนที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำงานโดยกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกาย นำน้ำตาลจากกระแสเลือดเข้าในเซลล์เพื่อเก็บ      หรือเผาผลาญต่อไป

ถัดไป: ลิ้นหัวใจเทียม (Mechanical Heart Valves)