เราควรทำอย่างไรต่อ

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: เราควรทำอย่างไรต่อ

ประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้น เรื่องสิ่งที่แต่ละบุคคลกังวลและให้ความสำคัญ เรื่องการทำความเข้าใจสถิติและการนำไปใช้ในแต่ละบุคคล รวมถึงความกังวลเรื่องการรักษาแม้แต่โรคในระยะที่ไม่น่าจะต้องรักษา ชี้ว่าผู้ป่วยกับแพทย์ และระบบสุขภาพกับประชาชนที่ใช้บริการ จำเป็นต้องสื่อสารกันให้ดีขึ้น ผู้เขียนจึงจะส่งท้ายบทนี้ด้วยแถลงการณ์ซาลซ์บูร์ก (Salzburg Statement) เรื่องการร่วมตัดสินใจ ซึ่งจุดประเด็นให้กลุ่มต่างๆ พัฒนาวิธีที่ทุกคนทำงานร่วมกัน [6, 7]

แถลงการณ์ซาลซ์บูร์กเรื่องการร่วมตัดสินใจ

เราขอให้แพทย์:

  • ระลึกว่าตนมีหน้าที่ทางจริยธรรมที่ต้องให้ผู้ป่วยร่วมตัดสินใจในเรื่องสำคัญ
  • กระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสนับสนุนให้ผู้ป่วยตั้งคำถาม อธิบายสภาวะ และบอกความต้องการของตน
  • ให้ข้อมูลที่เที่ยงตรงเรื่องทางเลือก ความไม่แน่นอน ประโยชน์และผลเสียจากการรักษาตามมาตรฐานปฏิบัติเรื่องการสื่อสารความเสี่ยง
  • ปรับข้อมูลให้เข้ากับความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละราย และให้เวลาผู้ป่วยไตร่ตรองทางเลือกที่มี
  • ยอมรับว่าการตัดสินใจส่วนใหญ่ไม่ต้องกระทำทันที และให้ข้อมูล รวมถึงความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยกับครอบครัวเพื่อให้ตัดสินใจได้

เราขอให้แพทย์ นักวิจัย บรรณาธิการ ผู้สื่อข่าว และอื่นๆ:

  • ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน อิงหลักฐาน และทันเหตุการณ์ รวมถึงเปิดเผยหากได้ผลประโยชน์ที่อาจขัดกับผลประโยชน์ของส่วนรวม

เราขอให้ผู้ป่วย:

  • เปิดใจเรื่องความกังวล คำถาม และสิ่งที่สำคัญต่อตน
  • ตระหนักว่าตนมีสิทธิ์ในการเป็นคู่คิดที่เท่าเทียมในการรักษา
  • ค้นหาและใช้ข้อมูลด้านสุขภาพที่เชื่อถือได้

เราขอให้ผู้กำหนดนโยบาย:

  • ออกนโยบายที่สนับสนุนการร่วมตัดสินใจ รวมถึงการวัดผลเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา
  • แก้ไขกฎหมายเรื่องการขอความยินยอมหลังให้ข้อมูลสนับสนุนการพัฒนาทักษะและเครื่องมือในการร่วมตัดสินใจ

เนื่องจาก

  • ปัจจุบันการดูแลที่ผู้ป่วยหลายรายได้รับ ไม่ได้อิงมาตรฐานเวชปฏิบัติที่เห็นตรงกันแพร่หลายว่าดีที่สุด หรือความพอใจเรื่องวิธีการรักษาของผู้ป่วย แต่อิงกับความสามารถและความพร้อมของแพทย์แต่ละรายที่จะทำการรักษา
  • แพทย์มักไม่ค่อยตระหนักว่าผู้ป่วยอยากร่วมเข้าใจปัญหาสุขภาพของตน  ได้รู้ทางเลือกที่มี และร่วมตัดสินใจโดยคำนึงถึงความพอใจ
  • ผู้ป่วยจำนวนมากและครอบครัวประสบปัญหาในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านการดูแลสุขภาพ บ้างก็ไม่กล้าถามผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ และอีกมากไม่เข้าใจเรื่องสุขภาพ รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งยังไม่รู้ว่าจะหาข้อมูลที่ชัดเจน เชื่อถือได้ และเข้าใจง่ายได้จากที่ไหน

เพิ่มเติม: เอกสารอ้างอิง (บทที่ 12)

บทถัดไป: บทที่ 13 งานวิจัยเพื่อเป้าหมายที่สมเหตุสมผล แนวทางสำหรับอนาคตที่สดใส