คำถามที่ 4 : จะทราบได้อย่างไรว่าหลักฐานจากงานวิจัยใช้ได้กับตน

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: คำถามที่ 4 : จะทราบได้อย่างไรว่าหลักฐานจากงานวิจัยใช้ได้กับตน

การตัดสินใจทุกอย่างอิงจากประสบการณ์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลหรือส่วนรวม การตรวจสอบวิธีการรักษาอย่างเที่ยงธรรม เช่น การทดลองแบบสุ่มก็เป็นเพียงประสบการณ์ที่เป็นระบบและออกแบบให้มีความลำเอียงน้อยที่สุด แต่ก็ยังไม่แน่นอนว่าประสบการณ์ในอดีต ไม่ว่าแบบเป็นระบบหรือไม่ จะก่อให้เกิดคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยรายต่อๆ มามากน้อยเพียงใด ดังนั้นหากผู้ป่วยซึ่งศึกษาในการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ มีอาการคล้ายกัน  และโรคอยู่ในระยะหรือรุนแรงพอๆ กัน ข้อสันนิษฐานที่สมเหตุสมผลที่สุดก็คือผู้ป่วยรายดังกล่าวจะได้ผลเหมือนกับในการศึกษา เว้นแต่มีเหตุให้ควรเชื่อว่าผู้ป่วยรายนั้นหรือโรคที่เป็นต่างกันมาก

แน่นอนว่าแม้หลักฐานจะตรงกับผู้ป่วย ผู้ป่วยก็ยังอาจถามเรื่องที่สมเหตุสมผลว่า “ทุกคนแตกต่างกัน จึงต้องได้ผลแตกต่างกันไม่ใช่หรือ” “การตรวจสอบ” วิธีการรักษา “อย่างเที่ยงธรรม” จะบอกได้เฉพาะว่าโดยเฉลี่ยวิธีใดได้ผล แต่แทบไม่อาจรับรองว่าแต่ละคนจะได้ผลดีเท่ากัน รวมถึงมักไม่อาจทำนายว่าใครจะประสบผลข้างเคียง หลักฐานจากงานวิจัยอาจใช้เป็นแนวทางว่าวิธีการรักษาใดน่าจะดีที่สุด ซึ่งจะลองใช้ในผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป เช่น ในผื่นบางชนิด บริเวณหนึ่งของร่างกายอาจได้รับวิธีการรักษาที่อิงหลักฐาน โดยใช้บริเวณอื่นเป็นบริเวณควบคุม (ดูบทที่ 6 หน้า 137-143) เมื่อเทียบผลที่ได้จากทั้งสองบริเวณ แพทย์และผู้ป่วยจะตัดสินได้ว่าวิธีการรักษาดังกล่าวได้ผลหรือมีผลเสียหรือไม่ อันที่จริงเมื่อได้รับวิธีการรักษาที่ใช้กับผิวหนังเป็นครั้งแรก ก็เป็นเรื่องปกติที่จะลองใช้ “แผ่นแปะทดสอบ” เช่นในวิธีการรักษาสิวบนใบหน้า

อย่างไรก็ตาม เรามักไม่อาจเปรียบเทียบตรงไปตรงมาได้สะดวก อย่างนี้ในโรคที่เรื้อรังและไม่ถึงชีวิต เช่น อาการปวด หรือคัน ก็เป็นไปได้ที่จะลองให้และหยุดยาในผู้ป่วยรายเดิมเป็นช่วงๆ วิธีนี้เรียกอีกอย่างว่า การทดลอง n-of-1 ซึ่งหมายถึงมีจำนวนผู้ป่วย (n) 1 รายในการทดลอง เป็นผู้ป่วยรายเดียว หลักการในการเปรียบเทียบอย่างเที่ยงธรรมที่อธิบายในบทที่ 6 รวมถึงการปกปิด หรือการประเมินผลการรักษาโดยไม่ลำเอียง เป็นต้น ใช้กับการทดสอบในผู้ป่วยเป็นรายๆ ได้เช่นกัน หากจะให้ดีก็ควรใช้ยาหลอก ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ใช้กับผิว หรือยาเม็ด แต่บ่อยครั้งที่ยากจะทำได้

ในหลายโรค เราไม่อาจ “ลองแล้วรอดู” เนื่องจากผลการรักษาต้องรอนาน หรือไม่แน่นอนเกินไป เช่น ไม่มีทางรู้ว่าแอสไพรินจะป้องกันโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่จนกว่าจะเกิดโรค ปัญหานี้พบในการแพทย์เชิงป้องกันส่วนใหญ่ รวมถึงวิธีการรักษาโรคเฉียบพลันหลายโรค เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ หรืองูกัด ซึ่งไม่มีโอกาสได้ทดสอบในผู้ป่วยแต่ละรายและดูผล จึงต้องดูว่านำหลักฐานจากประสบการณ์ที่ศึกษาผู้ป่วยอื่นมาใช้ได้หรือไม่อย่างไร

ในทางปฏิบัติ หากเราเห็นว่าหลักฐานนั้นๆ น่าจะใช้ได้ ก็ต้องถามว่าอาการของผู้ป่วยรุนแรงมาก หรือน้อยกว่า (หรือในกรณีที่ยังไม่ป่วย คาดว่ามีความเสี่ยงมาก หรือน้อยกว่า) ผู้เข้าร่วมการศึกษาซึ่งพบว่าวิธีการรักษาหนึ่งๆ มีประโยชน์ โดยปกติยิ่งผู้ป่วยอาการหนักจะยิ่งได้ประโยชน์จากการรักษา ดังนั้น หากอาการของผู้ป่วยรุนแรงใกล้เคียง หรือมากกว่าในการศึกษา ก็มั่นใจได้คร่าวๆ ว่าใช้หลักฐานนั้นได้ แต่ถ้าอาการรุนแรงน้อยกว่า (หรือคาดว่ามีความเสี่ยงต่ำ) ต้องพิจารณาว่า ถ้าวิธีการรักษาให้ประโยชน์น้อยกว่าที่พบในการศึกษาจะยังควรใช้หรือไม่

ถัดไปคำถามที่ 5 : การตรวจพันธุกรรมและ “การแพทย์เฉพาะคน” แปลว่าแพทย์จะเลือกได้ว่าแต่ละคนควรได้รับวิธีการรักษาใดซึ่งจะทำให้ทุกอย่างที่ว่ามาไม่จำเป็นไม่ใช่หรือ