คำถามที่ 3 : สถิติชวนสับสน ผู้ป่วยควรดูตัวเลขเหล่านี้จริงหรือ

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: คำถามที่ 3 : สถิติชวนสับสน ผู้ป่วยควรดูตัวเลขเหล่านี้จริงหรือ

วิธีนำเสนอตัวเลขอาจชวนให้ขยาด หรือกระทั่งทำให้เข้าใจผิดสิ้นเชิง แต่ถ้าต้องการเปรียบเทียบวิธีการรักษา 2 วิธี หรืออยากรู้จริงๆ ว่าโรคที่ตนเป็นส่งผลต่อผู้ป่วยรายอื่นอย่างไร ก็ต้องมีตัวเลขมาเกี่ยวข้องอยู่ดี แต่วิธีนำเสนอตัวเลขบางวิธีอาจเป็นประโยชน์เมื่อเทียบกับวิธีอื่น

วิธีดีที่สุดที่ทำให้ตัวเลขสื่อความได้ในประชาชนทั่วไป (และแพทย์ !)  คือการใช้ค่าความถี่ ซึ่งเป็นเลขจำนวนเต็ม โดยทั่วไปจึงควรบอกว่า 15 คนใน 100 คน แทนที่จะบอกว่าร้อยละ 15 อีกทั้งนอกจากคำพูดแล้ว การแสดงตัวเลขด้วยตาราง หรือรูปภาพต่างๆ ก็มักเป็นประโยชน์ เช่น ใช้แผนภูมิแท่งหลากสี แผนภูมิวงกลม หน้ายิ้มและหน้าเศร้าในกรอบ เป็นต้น การนำเสนอ “ตัวเลข” ด้วย “ตัวช่วยตัดสินใจ” เช่นนี้ทำให้คนจำนวนมากที่สุด เข้าใจความหมายของข้อมูล

Graph showing the risk of heart disease or stroke

จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วย 100 รายที่เป็นโรคเหมือนคุณใน 10 ปีข้างหน้า

ด้านล่างเป็นตัวอย่างวิธีอธิบายผลจากยาลดความดันโลหิตชนิดต่างๆ ที่มีต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในช่วงเวลา10 ปีโดยใช้แผนภูมิแท่ง [3]

จากผู้ป่วย 100 รายที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไม่ได้ใช้วิธีการรักษาใดๆ คาดว่า 13 รายจะเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองภายใน 10 ปี ถ้าทั้ง 100 รายใช้ยาลดความดันโลหิต A จะมีเพียง 11 รายที่เป็นโรคดังกล่าว และมี 2 รายที่เลี่ยงการเป็นโรคได้ หากทั้ง 100 รายใช้ยาลดความดันโลหิต B จะมี 10 รายที่เป็นโรคดังกล่าว และมี 3 รายที่เลี่ยงการเป็นโรคได้ ซึ่งตรงไปตรงมา แต่ตัวเลขง่ายๆ เช่นนี้มักถูกรายงานด้วยศัพท์ที่มีแต่นักสถิติที่เข้าใจ

ทีนี้ลองดูว่าตัวเลขเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ถ้าใช้ตารางแทนแผนภูมิแท่ง ในตัวอย่างนี้เราจะสนใจเฉพาะวิธีการรักษาที่ดีกว่าคือยา B

ลองใส่ตัวเลขเป็นจำนวนธรรมดา (จำนวนนับ) แล้วคำนวณให้ครบถ้วน

ไม่รักษา  ใช้ยา B
เป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง
(ภายใน 10 ปี)
13 ใน 100 ราย 10 ใน 100 ราย
ไม่เป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง 87 ใน 100 ราย 90 ใน 100 ราย
รวม 100 100

หากไม่รักษา ความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองคือ ร้อยละ 13 (หรือ 13 ใน 100) แต่ถ้าใช้ยา B ความเสี่ยงจะเป็นร้อยละ 10 (หรือ 10 ใน 100) ต่างกันร้อยละ 3 (หรือ 3 ใน 100) จากที่โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมองจะเกิดในผู้ป่วย 13 รายยา B ป้องกันได้ 3 ราย ความเสี่ยงสัมพัทธ์จึงลดลง 3 / 13 หรือร้อยละ 23 จึงกล่าวได้ว่าการรักษาจะลดความเสี่ยงสัมบูรณ์ลงร้อยละ 3 หรือลดความเสี่ยงสัมพัทธ์ร้อยละ 23 ซึ่งเป็นการแสดงค่าเดียวกันด้วยวิธีที่ต่างกัน

อย่าถูกหลอกด้วยสถิติที่สะดุดตา

Ringmaster“สมมติว่าการมีคอเลสเตอรอลสูงจะเพิ่มความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันขึ้นร้อยละ 50 ในผู้ที่อายุอยู่ในช่วง 50 ปี ก็ฟังหนักหนาเอาการ แต่ถ้าความเสี่ยงนี้เพิ่มเพียงร้อยละ 2 ก็ฟังไม่เลวร้ายนัก แต่ทั้งสองค่าคือค่าเดียวกัน (ค่าเหล่านี้สมมติขึ้น)

อ่านต่อ

ค่าการลดความเสี่ยงสัมพัทธ์มักสูง บางครั้งก็สูงกว่าการลดความเสี่ยงสัมบูรณ์มากจึงสะดุดตากว่า ดังนั้น ข่าวพาดหัวว่า “ลดโรคหลอดเลือดสมองลงร้อยละ 23” จึงไม่สื่ออะไรเลย เพราะพาดหัวนี้ไม่ได้ระบุกลุ่มผู้ป่วย ช่วงเวลา รวมถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองหากไม่รักษา ค่านี้มีแนวโน้มสูงมากว่าเป็นค่าการลดความเสี่ยงสัมพัทธ์ (แต่ต้องตรวจดูเพื่อยืนยัน)

บางคร้งตัวเลขต่างๆ ก็ต่างกันมาก ขอให้นึกถึงวิธีที่หนังสือพิมพ์รายงานเรื่องการศึกษาการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก การ “ลดการเสียชีวิตได้ร้อยละ 20” ฟังดูมาก แต่อาจรายงานผลเดียวกันนี้ได้ว่า หากคัดกรองคน 1,410 รายจะป้องกันการเสียชีวิตได้ 1 ราย (น้อยนิดเพียงร้อยละ 0.07 หรือป้องกันการเสียชีวิตได้ 7 ราย ต่อชายที่ถูกคัดกรอง 10,000 ราย) ร้อยละ 20 เป็นค่าการลดความเสี่ยงสัมพัทธ์ ส่วนร้อยละ 0.07 เป็นค่าการลดความเสี่ยงสัมบูรณ์ โดยค่าหลังต่ำกว่ามาก เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากต่ำอยู่แล้ว จึงมักไม่มีโอกาสได้ขึ้นพาดหัว ประเด็นสำคัญ คือ ถ้าคำกล่าวอ้างในพาดหัวดูดีเกินจริงก็อาจเกินจริงตามนั้น ! [4]

ตัวเลขต่างๆ จึงสำคัญ การนำเสนอที่ดีช่วยประชาชนตัดสินใจได้ ผู้ป่วยไม่ควรลังเลที่จะขอให้แพทย์อธิบายด้วยวิธีที่ตนเข้าใจได้ง่าย โดยใช้รูปภาพประกอบตามสมควรเพื่อให้กระจ่าง ถ้าแพทย์และผู้ป่วยจะร่วมกันตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการรักษา ทั้งสองฝ่ายต้องรู้ชัดว่าตัวเลขเหล่านี้สื่ออะไร

ถัดไป: คำถามที่ 4 : จะทราบได้อย่างไรว่าหลักฐานจากงานวิจัยใช้ได้กับตน