ลดช่องว่างระหว่างผู้ป่วยกับนักวิจัย

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: ลดช่องว่างระหว่างผู้ป่วยกับนักวิจัย

บางครั้งอาจเกิดปัญหาเมื่อผู้ป่วยมีส่วนร่วม หรือสร้างความเสียหายโดยไม่ตั้งใจ เพราะการมีเจตนาดีไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสียเสมอไป แต่ก็มีตัวอย่างชัดเจนว่ามีประโยชน์ที่ให้นักวิจัยและผู้ป่วยร่วมมือกันทำให้งานวิจัยตรงประเด็นและออกแบบเหมาะสมยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจำนวนมากจึงเสาะหาผู้ป่วยที่ร่วมงานกันได้

ตัวอย่างหนึ่งของประโยชน์จากการช่วยกันเตรียมการก่อนวิจัย คือ การที่นักวิจัยหารือกับผู้ป่วยและผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะป่วย เรื่องอุปสรรคในการตรวจสอบวิธีการรักษาที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต้องได้รับวิธีการรักษาทันทีที่มีอาการจึงจะรักษาได้ แต่นักวิจัยไม่แน่ใจว่าควรทำการศึกษาอย่างไร จึงขอความช่วยเหลือจากผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วย โดยประชุมหารือกับกลุ่มผู้ป่วยและผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพรวมทั้งจัดกลุ่มสนทนาในผู้สูงอายุ ด้วยเหตุนี้ แผนการศึกษาจึงชัดเจนขึ้น อีกทั้งผู้ป่วย ยังช่วยนักวิจัยร่างและปรับเอกสารในการให้ข้อมูลการศึกษาด้วย [20]

งานวิจัยขั้นต้นที่รอบคอบชิ้นนี้ทำให้ได้แผนทำการทดลองแบบสุ่มซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยทันที การที่สมาชิกในกลุ่มสนทนาเข้าใจถึงความลำบากใจเมื่อนักวิจัยต้องขอความยินยอมหลังให้ข้อมูลจากผู้ป่วยที่อาจกำลังมึนงง สื่อสารไม่ได้ หรือกระทั่งหมดสติเนื่องจากเป็นโรคเฉียบพลัน ทำให้สมาชิกกลุ่มเหล่านี้สามารถแนะนำทางแก้จนได้การทดลองที่ออกแบบโดยทุกฝ่ายยอมรับ และได้เอกสารที่ให้ข้อมูลดีขึ้นมาก

นักสังคมศาสตร์มีบทบาทมากขึ้นในฐานะสมาชิกในทีมวิจัย โดยทำ หน้าที่ศึกษาประเด็นอ่อนไหวของโรคร่วมกับผู้ป่วยอย่างเป็นกิจจะลักษณะเพื่อช่วยพัฒนาวิธีการทดลอง ในการทดลองในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก นักวิจัยต้องการเปรียบเทียบวิธีการรักษาที่ต่างกัน 3 วิธี คือ การผ่าตัด การฉายรังสี และ “การจับตาดู” วิธีสุดท้ายนี้สร้างความลำบากใจให้ทั้งแพทย์ที่ร่วมการทดลองและผู้ป่วยที่ต้องชั่งใจว่าจะเข้าร่วมการทดลองหรือไม่ แพทย์ไม่เต็มใจอธิบายเรื่องวิธี “การจับตาดู” จึงเก็บไว้พูดถึงเป็นวิธีสุดท้าย ทั้งยังอธิบายไม่เต็มปาก เพราะเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการทดลองคงยอมรับไม่ได้ นักสังคมศาสตร์จึงถูกขอให้ศึกษาประเด็นเรื่องการยอมรับของผู้ป่วย เพื่อประเมินว่าการทดลองนั้นๆ ทำได้จริงหรือไม่

ผลที่นักสังคมศาสตร์ได้นั้นน่าประหลาดใจ [21] เนื่องจากผู้ป่วยยอมรับ “การจับตาดู” เป็นทางเลือกที่สาม ถ้าเปลี่ยนไปอธิบายว่าทางเลือกนี้เป็น “การเฝ้าติดตามอาการ” และตอนเชิญชวนผู้ป่วยแพทย์ต้องอธิบายถึงทางเลือกนี้เป็นทางเลือกแรกๆ โดยใช้ถ้อยคำที่ผู้ป่วยเข้าใจ

การวิจัยนี้ช่วยลดช่องว่างระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ทั้งยังพบว่าทั้งสองฝ่ายลำบากใจเนื่องจากปัญหาข้างต้น ซึ่งแก้ได้ง่ายด้วยการปรับปรุงคำอธิบายเกี่ยวกับทางเลือกวิธีการรักษา ผลอีกอย่างคือผู้ป่วยยินยอมเข้าร่วมการทดลองด้วยอัตราที่สูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปจาก 4 ใน 10 รายเป็น 7 ใน 10 ราย เมื่อเชิญชวนผู้ป่วยได้เร็วขึ้น ผลจากการใช้วิธีการรักษาดังกล่าวในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะไม่แพร่กระจายก็จะปรากฏเร็วขึ้นด้วย เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการดำเนินงานเพ่อเตรียมการและเนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคที่พบบ่อย ผลการศึกษาจึงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมากเร็วยิ่งขึ้น

ถัดไปการร่วมมือกันเป็นจุดเริ่มต้นของอนาคตที่สดใส