ผลการรักษาที่ประเมินอย่างเที่ยงธรรม

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: ผลการรักษาที่ประเมินอย่างเที่ยงธรรม

นอกจากจะมีการใช้วิธีการรักษาเทียมในการเปรียบเทียบวิธีการรักษา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์ทำตามวิธีที่จัดสรรให้แล้ว ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่รู้กันแพร่หลายคือ “การปกปิด” เช่นนี้ เป็นไปเพื่อลดความลำเอียงขณะประเมินผลการรักษา

การปกปิดเพื่อการนี้มีความเป็นมาน่าสนใจ

การปกปิดเพื่อการนี้มีความเป็นมาที่น่าสนใจในศตวรรษที่ 18 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสรับสั่งให้มีการตรวจสอบคำกล่าวอ้างของอันตอง เมสเมอร์ ที่ว่า “การสะกดจิต (animal magnetism หรือ mesmerism)” มีประโยชน์ พระองค์อยากรู้ว่าผลดังกล่าวเกิดจาก “แรงกระทำจริง” หรือแค่ “ภาพหลอนในใจ” ในการตรวจสอบวิธีการรักษาครั้งหนึ่ง ผู้ที่ถูกปิดตาไว้จะถูกบอกว่าพวกเขาถูกสะกดจิตหรือไม่ โดยบางครั้งก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง พวกเขาจะรายงานว่ารู้สึกถึงผลจาก “วิธีการรักษา” นี้เฉพาะเมื่อบอกว่าพวกเขาถูกสะกดจิต

มีโอกาสเกิดความลำเอียงน้อยในการประเมินผลการรักษาบางอย่าง เช่น การรอดชีวิต เพราะเห็นชัดเจนว่าคนเสียชีวิตหรือไม่ อย่างไรก็ดี การประเมินผลการรักษาส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งความรู้สึกส่วนตัว เพราะบ่อยครั้งที่ควรพิจารณาอาการต่างๆ ที่ผู้ป่วยรู้สึกด้วย เช่น ความเจ็บปวดและความ กังวล โดยทุกคนอาจมีเหตุผลส่วนตัวที่ชอบวิธีการรักษาหนึ่งมากกว่าวิธีอื่นที่เปรียบเทียบกัน เช่น หากผู้ป่วยเชื่อว่าวิธีการรักษานั้นดีกับตน ก็อาจตอบสนองต่อประโยชน์ที่อาจเกิดมากกว่าปกติ และพร้อมจะโทษว่าผลเสียต่างๆ   เกิดจากวิธีการรักษาที่ผู้ป่วยไม่วางใจ

ในสถานการณ์ที่พบได้บ่อยเหล่านี้ การปกปิดเป็นองค์ประกอบที่การตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมควรมี แปลว่าวิธีการรักษาที่เปรียบเทียบต้องมีลักษณะเหมือนกัน เช่น ในการตรวจสอบวิธีการรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis)[ถ]ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการตรวจโดยทั้งแพทย์ที่ไม่รู้ว่าผู้ป่วยได้รับยาชนิดใหม่ หรือได้ยาที่ไม่มีตัวยา (นั่นคือ แพทย์กลุ่ม “ถูกปกปิด”) และแพทย์ที่รู้ว่าผู้ป่วยถูกจัดสรรให้อยู่ในกลุ่มเปรียบเทียบใด (นั่นคือแพทย์ “ไม่ถูกปกปิด”) การประเมินโดยแพทย์ซึ่ง “ถูกปกปิด” ชี้ว่าวิธีการรักษาใหม่ไม่มีประโยชน์ แต่แพทย์อีกกลุ่มประเมินว่าวิธีการรักษาใหม่มีประโยชน์ [8]  ความต่างนี้บ่งว่าวิธีการรักษาใหม่ดังกล่าวไม่มีประสิทธิผล และการรู้วิธีที่ใช้รักษาทำให้แพทย์ที่ “ไม่ถูกปกปิด” “เห็นใน สิ่งที่เชื่อ” หรือคาดหวังโดยรวมยิ่งการประเมินผลการรักษามีส่วนที่ใช้ความรู้สึกส่วนบุคคลมากเท่าใด ก็ยิ่งควรใช้การปกปิดมากเท่านั้น เพื่อให้การตรวจสอบวิธีการรักษาเป็นไปโดยเที่ยงธรรม

บางครั้งเราปกปิดผู้ป่วยได้กระทั่งว่าพวกเขาได้รับการผ่าตัดจริงหรือไม่ มีการศึกษาเช่นนี้อยู่ครั้งหนึ่งในผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเปรียบเทียบวิธีการผ่าตัดเพื่อล้างข้อที่อักเสบ กับการให้ยาชา เปิดแผลบริเวณผิวหนังซึ่งหุ้มข้อเข่าที่ปวด และ “แสร้งทำ” ว่าหลังจากนั้นมีการทำความสะอาดบริเวณข้อด้วยน้ำ [9]

แต่บ่อยครั้งการปกปิดไม่ให้ผู้ป่วยและแพทย์ทราบตัวจริงของวิธีการรักษาที่เปรียบเทียบก็เป็นไปไม่ได้ เช่น เมื่อเปรียบเทียบการผ่าตัดกับการรักษาด้วยยา หรือเมื่อยามีผลข้างเคียงที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างไรก็ตามแม้แต่ในผลการรักษาที่อาจมีความลำเอียง เช่น ในการระบุสาเหตุการเสียชีวิต หรือแปลผลเอกซเรย์ ยังอาจเลี่ยงความลำเอียงได้โดยจัดให้ผู้ที่ไม่รู้ว่าผู้ป่วยรายไหนได้รับวิธีการรักษาใด เป็นผู้ประเมิน

[ถ] โรคที่เกิดการอักเสบของปลอกประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมองและไขสันหลัง เนื่องจากภูมิคุ้มกันทำลายปลอกประสาท และอาจะทำให้เส้นประสาทเสียหาย

ถัดไปการเกิดและตรวจสอบข้อสงสัยเกี่ยวกับผลเสียที่ไม่คาดคิดจากวิธีการรักษา