การจัดสรรวิธีการรักษาต่างๆ ตามแผนโดยไม่ลำเอียง

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: การจัดสรรวิธีการรักษาต่างๆ ตามแผนโดยไม่ลำเอียง

ในปี ค.ศ. 1854 แพทย์ทหาร โทมัส เกรแฮม บาลโฟร์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโรงเลี้ยงเด็กกำพร้าของกองทัพ พิสูจน์ว่าจะจัดกลุ่มวิธีการรักษาอย่างไรให้แน่ใจได้ว่าสิ่งที่เปรียบเทียบคล้ายคลึงกัน บาลโฟร์อยากรู้ว่าสมุนไพรเบลลาดอนนา (belladonna) ป้องกันไม่ให้เด็กเป็นไข้อีดำอีแดง (scarlet fever)[ด] ได้ดังที่มีผู้กล่าวอ้างหรือไม่ ดังนั้น “เพื่อเลี่ยงข้อครหาว่าลำเอียง” ตามที่เขาว่า เขาจึงจัดให้เด็กได้รับเบลลาดอนนา คนเว้นคน [5] การจัดสรรแบบสลับ หรือวิธีอื่นๆ ที่ไม่ลำเอียงในการจัดกลุ่มเปรียบเทียบ คือจุดเด่นของการตรวจสอบวิธีการรักษาอย่างเที่ยงธรรม เนื่องจากช่วยเพิ่มแนวโน้มให้กลุ่มที่เปรียบเทียบเหมือนกัน ทั้งในแง่ปัจจัยสำคัญที่รู้ รวมถึงตรวจวัดแล้ว และปัจจัยที่ไม่ได้ตรว

จวัด แต่อาจส่งผลต่อการหายป่วย ซึ่งไม่อาจปรับค่าด้วยสถิติได้

 

ในการจัดสรรผู้ป่วยให้รับวิธีการรักษาต่างๆ อย่างเที่ยงธรรม (ไม่ลำเอียง) สิ่งสำคัญคือผู้ออกแบบการตรวจสอบต้องมั่นใจได้ว่า แพทย์และผู้ป่วยไม่อาจล่วงรู้ หรือคาดเดาได้ว่าคนต่อไปจะได้รับอะไร เพราะถ้ารู้อาจจูงใจพวกเขาให้เจาะจงเลือกวิธีการรักษา ทั้งโดยรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว เช่น หากแพทย์รู้ว่าผู้ป่วยคนต่อไปที่มีกำหนดเข้าร่วมการทดลองจะได้รับยาหลอก (รักษาด้วยยาปลอม) แพทย์อาจไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยอาการหนักเข้าร่วมการทดลอง และรอผู้ป่วยที่อาการเบากว่า ดังนั้น แม้จะสร้างรูปแบบการจัดสรรอย่างไม่ลำเอียงแล้ว แต่การจัดสรรเข้ากลุ่มวิธีการรักษาต่างๆ อย่างไม่ลำเอียงจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเก็บทุกอย่างเป็นความลับ ไม่ให้ใครรู้ได้ว่าการจัดสรรครั้งต่อไปจะเป็นวิธีการรักษาใด จึงไม่มีเหตุจูงใจให้บิดพลิ้วจากรูป แบบการจัดสรรอย่างไม่ลำเอียง

Illustration of concealed randomization

การปกปิดการจัดสรรวิธีการรักษาในการทดลองโดยใช้การสุ่มผ่านโทรศัพท์

การปกปิดการจัดสรรมักทำโดยการสร้างวิธีการจัดสรรที่คาดเดาได้ยากกว่าการสลับแบบพื้นฐาน เช่น จัดสรรโดยใช้ตัวเลขสุ่มและปกปิดรูปแบบดังกล่าว ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น ในผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าเหมาะจะเข้าร่วมในการศึกษา อาจสุ่มแยกตัวอย่างจากทางไกลผ่านโทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ อีกวิธีหนึ่งคือ การใช้ชุดซองจดหมายที่มีหมายเลข แต่ละซองบรรจุผลการจัดสรร เมื่อมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การศึกษา จะเปิดซองถัดไปในชุดว่าการจัดสรรที่ได้คืออะไร เพื่อให้ระบบนี้ได้ผล ซองที่ใช้ต้องทึบพอให้แพทย์ไม่อาจ “โกง” ด้วยการยกซองขึ้นส่องไฟดูผลการจัดสรรในซอง

ปัจจุบันวิธีนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของการตรวจสอบวิธีการรักษาอย่างเที่ยงธรรม การศึกษาที่ใช้ตัวเลขสุ่มเพื่อจัดสรร วิธีการรักษานี้เรียกว่า “การทดลองแบบสุ่ม” (ดูกรอบข้อความในบทที่ 3)

[ด] โรคติดเชื้อร้ายแรงที่พบในเด็ก ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอ เป็นไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และมีผื่นสีแดงขึ้นเกือบทั่วร่างกาย

ถัดไปรูปแบบต่างๆ ในการใช้การจัดสรรอย่างไม่ลำเอียง (แบบสุ่ม) เพื่อเปรียบเทียบวิธีการรักษา