Home > อ่านหนังสือฉบับเต็ม > เกริ่นนำ > คำนิยม โดย เบน โกลด์เอเคอร์

คำนิยม โดย เบน โกลด์เอเคอร์

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: คำนิยมโดย เบน โกลด์เอเคอร์

เรื่องทางการแพทย์ไม่ควรเป็นสิทธิ์ขาด และคำถามง่ายๆ อย่าง “คุณรู้ได้อย่างไร” เป็นคำถามสำคัญที่สุดที่ทุกคนมีสิทธิ์ถามเมื่อมีการกล่าวอ้างใดๆ ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะให้คำตอบ

บุคลากรทางการแพทย์เปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสารกับผู้ป่วยขนานใหญ่ นานมาแล้ว “การฝึกทักษะการสื่อสาร” มีเพียงทักษะในการเลี่ยงไม่บอกผู้ป่วยว่ากำลังจะเสียชีวิตเพราะมะเร็ง แต่ทุกวันนี้ เราสอนนักเรียนแพทย์ตามข้อความที่ยกมาจากเอกสารประกอบการสอนว่า “จะทำงานร่วมกับผู้ป่วยอย่างไร เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพที่เหมาะสม” ปัจจุบัน ผู้ป่วยมีสิทธิ์ร่วมหารือและเลือกวิธีการรักษาที่เห็นว่าดีที่สุดได้

เพื่อให้เป็นไปตามนี้ ทุกคนต้องเข้าใจว่าเรารู้ได้อย่างไรว่าวิธีการรักษาใดได้ผล หรือจะเกิดอันตราย และเราเปรียบเทียบผลดีกับผลเสียเพื่อประเมินความเสี่ยงอย่างไร น่าเศร้าที่บางครั้งแพทย์ก็ขาดความรู้เรื่องนี้เช่นเดียวกับคนทั่วไป และยิ่งน่าเศร้าที่มีสิ่งต่างๆ เป็นโขยงต่อแถวรอหลอกให้เราหลงผิด

สิ่งสำคัญที่สุดอย่างแรกเลยคือเราอาจหลอกตัวเอง โรคส่วนใหญ่มีระยะของโรค ดีขึ้น แย่ลง เป็นวงจร หรือไร้แบบแผน ดังนั้นถ้ารักษาตอนอาการหนักที่สุด วิธีการรักษานั้นก็อาจดูเหมือนได้ผล เพราะเราจะดีขึ้นเองอยู่แล้ว

เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ยาหลอก (placebo effect) ที่หลอกพวกเราได้ทุกคน บางครั้งผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้จริงๆ เพียงกินเม็ดแป้ง ซึ่งไม่มีตัวยาใดๆ โดยเชื่อว่าวิธีการรักษานั้นได้ผล ดังที่โรเบิร์ต เอ็ม เพอร์ซิกกล่าวไว้ในเซ็นและศิลปะการบำรุงรักษาจักรยานยนต์ (Zen and the Art of Motorcycle Maintenance) ว่า “เป้าหมายที่แท้จริงของวิธีการทางวิทยาศาสตร์คือเพื่อให้มั่นใจว่า ธรรมชาติไม่ได้หลอกให้คุณคิดว่ารู้ในเรื่องที่คุณไม่รู้”

แต่ก็ยังมีคนที่ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เข้าสู้ ใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือวลีที่ผมหยิบยืมไปใช้อยู่ตลอด นั่นคือแนวคิดของ “การตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรม (fair test)” ใช่ว่าการทดลองแต่ละเรื่องจะมีคุณภาพเหมือนกัน เพราะมีสารพัดสาเหตุที่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เรื่องหนึ่งมีความลำเอียง และให้คำตอบผิดๆ ที่คนบางกลุ่มเชื่อว่า “ถูกต้อง”

บางครั้งหลักฐานอาจถูกบิดเบือนจากความเลินเล่อ หรือด้วยเจตนาบริสุทธิ์ (หากเราจะให้ความสำคัญกับเจตนา) ไม่ว่า แพทย์ ผู้ป่วยผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล นักอาชีวบำบัด และผู้บริหาร ก็อาจยึดติดกับความคิดที่ว่า วิธีการรักษาที่ตนลงทุนลงแรงไปแล้วมากมายนั้นวิเศษสุด

บางครั้งหลักฐานก็ถูกบิดเบือนด้วยเหตุอื่น คงไม่ถูกต้องหากเราหลงเชื่อทฤษฎีสมคบคิดตื้นๆ เรื่องอุตสาหกรรมยา เพราะพวกเขาสร้างความก้าวหน้าที่สำคัญที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วย แต่บางงานวิจัยก็มีเงินทุนมหาศาลเป็นเดิมพัน และด้วยหลายสาเหตุที่หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึง การทดลองร้อยละ 90 จึงทำโดยอุตสาหกรรมยา ซึ่งอาจเป็นปัญหาได้ เพราะการศึกษาที่อุตสาหกรรมให้ทุนมีแนวโน้มที่ยาของผู้สนับสนุนจะได้ผลบวกสูงถึง 4 เท่าของการทดลองที่ได้รับทุนจากแหล่งทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการวางจำหน่ายยาใหม่ชนิดหนึ่งต้องใช้เงินถึง 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการวิจัยและพัฒนายา หากปรากฏว่ายานั้นใช้ไม่ได้ผล เงินทุนก็สูญเปล่า เมื่อมีเดิมพันก้อนใหญ่ บางครั้งอุดมคติเรื่องการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมจึงถูกละเลย [1]

วิธีการสื่อสารเกี่ยวกับหลักฐานวิชาการก็อาจถูกบิดเบือนหรือชวนให้เข้าใจผิดเช่นกัน บ้างก็ด้วยวิธีการนำเสนอข้อเท็จจริงและตัวเลข การนำเสนอเพียงบางส่วน กลบเกลื่อนข้อด้อย หรือ “คัด” เฉพาะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ “ชิ้นงามๆ” ซึ่งแสดงผลเพียงแง่มุมเดียวของวิธีการรักษานั้นแต่ตามกระแสสังคม กระบวนการที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นอาจจะเข้ามามีบทบาท ไม่แปลกที่เราอยากหายป่วยเป็นปลิดทิ้ง แม้ว่างานวิจัยส่วนใหญ่มักกล่าวถึงความก้าวหน้าที่ไม่มีนัยสำคัญ การลดความเสี่ยงเล็กน้อย และลดการใช้ดุลพินิจส่วนบุคคล บ่อยครั้งที่ข้อมูลเหล่านี้ถูกสื่อมองข้าม เพราะมีการกระหน่ำใช้คำ เช่น “หายขาด” “ปาฏิหาริย์” “ความหวัง” “สะเทือนวงการ” และ “เหยื่อ” [2]

ในยุคที่ผู้คนจำนวนมากกระตือรือร้นที่จะกำหนดชีวิตตนเอง โดยมีส่วนร่วมตัดสินใจเลือกการดูแลสุขภาพที่ตนจะได้รับ แต่น่าเสียดายที่ไม่อาจทำได้เลย เพราะมีข้อมูลบิดเบือนอยู่เต็มไปหมด การบิดเบือนที่ว่านี้อาจเกี่ยวกับยาบางชนิด ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดเมื่อเร็วๆ นี้คือ การนำเสนอยาเฮอเซปติน (Herceptin) ในสื่อของสหราชอาณาจักรว่าเป็นยาวิเศษในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม [3]

แต่บางครั้ง กลุ่มสุดโต่งและผองเพื่อนในสื่อก่อความเสียหายใหญ่หลวงยิ่งกว่า โดยส่งเสริมวิธีการรักษาของตน พร้อมกับพยายามหักล้างหลักฐานที่มาขัดแย้ง จนบ่อนทำลายแก่นความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับการประเมินว่าอะไรดีหรือไม่ดีต่อตัวเรา

ถ้าเปรียบเทียบกันด้วยการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมที่สุด น้ำตาลอัดเม็ดที่ใช้ในการแพทย์แบบโฮมิโอพาทีย์ (Homeopathy)[ก] ก็ให้ผลไม่ต่างจากน้ำตาลอัดเม็ดทั่วไป แต่เมื่อต้องเผชิญกับหลักฐานนี้ นักบำบัดโฮมิโอพาธีย์จะโต้ว่าแนวคิดในการทดลองทั้งหมดมีปัญหา มีเหตุผลซับซ้อนบางประการที่ทดสอบยาแสนพิเศษของพวกเขาไม่ได้ นักการเมืองก็อาจแก้ตัวแบบนี้เมื่อต้องรับมือกับหลักฐานที่ว่าโครงการให้ความรู้เพื่อป้องกันวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่ตนสนับสนุนนั้นล้มเหลว หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงต่อไปว่า ในความเป็นจริง การตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมและโปร่งใสนำไปใช้ได้กับทุกคำกล่าวอ้างว่ามาตรการใดได้ผล [4]

บางครั้งการบิดเบือนเหล่านี้อาจเลยเถิดถึงขั้นบ่อนทำลายความเข้าใจของสาธารณชน การ “ทบทวน” การตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรมทั้งหมด “อย่างเป็นระบบ” เมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า ไม่มีหลักฐานใดบ่งว่าการกินวิตามินที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระช่วยให้อายุยืนขึ้น (ที่จริงอาจทำให้อายุสั้นลงด้วยซ้ำ) ข้อสรุปเช่นนี้ได้มาโดยมีขั้นตอนชัดเจนดังที่แจกแจงจนกระจ่างในหนังสือเล่มนี้ ตั้งแต่จะค้นหาหลักฐานจากที่ไหน หลักฐานอะไรบ้างที่นำมาใช้ได้ และจะประเมินคุณภาพของหลักฐานได้อย่างไร แต่เมื่อการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic review) ให้ผลขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างของบริษัทอาหารเสริมต้านอนุมูลอิสระ หนังสือพิมพ์และนิตยสารก็พร้อมใจกันโต้แย้งโดยใส่ความว่า การศึกษาที่นำมาทบทวนนั้นถูก “คัดมาแล้ว” ด้วยเหตุผลเรื่องการเลือกข้างทางการเมือง หรือการทุจริตซึ่งหน้า โดยจงใจมองข้ามหลักฐานที่สนับสนุนประโยชน์จากการใช้วิตามินและข้ออ้างอื่นๆ เรื่องนี้โชคไม่ดี เพราะแนวคิดของการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ ซึ่งพิจารณาหลักฐานทุกชิ้นอย่างครบถ้วน เป็นนวัตกรรมในวงการแพทย์ที่ไม่เป็นข่าวโด่งดัง แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ขณะที่นักหนังสือพิมพ์และบริษัทยาปกป้องมุมเล็กๆ ในร้านขายปลีกอาหารเสริม ด้วยการทำลายความเข้าใจของสาธารณชนต่อแนวคิดดังกล่าว ซึ่งอาจก่อความเสียหายใหญ่หลวงแก่ทุกคน

และนั่นคือปัญหา มีหลายเหตุผลที่คุณควรอ่านหนังสือเล่มนี้ ในระดับพื้นฐานที่สุด หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของคุณโดยพิจารณาข้อมูลมากขึ้น ถ้าคุณทำงานด้านการแพทย์ เนื้อหาในแต่ละบทต่อจากนี้อาจจะดีกว่าคำสอนเรื่องการแพทย์แบบอิงหลักฐาน (Evidence-based medicine) ที่คุณเคยได้รับมา ในระดับประชากรถ้ามีผู้คนจำนวนมากขึ้นเข้าใจการเปรียบเทียบอย่างเที่ยงธรรม รู้วิธีดูว่ามาตรการใดดีกว่าแล้ว แทนที่ประชาชนจะกลัวการเข้าร่วมงานวิจัย ก็อาจตื่นตัวรณรงค์ให้ได้มีส่วนร่วมลดความไม่แน่นอนเรื่องวิธีการรักษาที่สำคัญกับพวกตนอย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้

แต่ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ควรอ่านหนังสือเล่มนี้ และเรียนรู้เคล็ดลับในการทำงานของเรา เหตุผลนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนำไปประยุกต์ใช้เลย ข้อเท็จจริงง่ายๆ มีอยู่ว่า ศาสตร์นี้น่าสนใจ งดงาม และเฉียบแหลม หนังสือเล่มนี้อธิบายเรื่องศาสตร์นี้ได้ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา เนื่องจากผู้เขียนมีประสบการณ์ ความรู้ และเข้าใจมุมมองของผู้อื่น

การรักษาต้องสงสัย นำสิ่งที่มนุษย์ให้ความสำคัญมาตั้งคำถาม การแพทย์เป็นเรื่องของความทุกข์ทรมานและความตายของมนุษย์ แต่ก็เกี่ยวกับจุดอ่อนของมนุษย์ในฐานะผู้มีอำนาจตัดสินใจและนักวิจัย ซึ่งอธิบายไว้แล้วในที่นี้ ผ่านเรื่องส่วนตัวและความลังเลของนักวิจัย รวมทั้งแรงจูงใจ ข้อกังวล และการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็น หาได้ยากที่แง่มุมนี้ของวงการวิทยาศาสตร์จะเปิดให้สาธารณชนเข้าถึง ซึ่งผู้เขียนใช้การนำเสนอที่หลากหลาย จากบทความวิชาการที่จริงจัง ไปถึงบทความทางการแพทย์ที่เป็นกระแสช่วงสั้นๆ ตลอดจนค้นพบสิ่งน่าสนใจที่ถูกละเลยในกระทู้อภิปรายเกี่ยวกับบทความวิชาการ บทวิจารณ์ อัตชีวประวัติ และการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ

หนังสือเล่มนี้ควรมีอยู่ในทุกโรงเรียนและบริเวณผู้ป่วยรอพบแพทย์ทุกแห่ง แต่ตอนนี้มันอยู่ในมือคุณแล้ว เชิญอ่านต่อครับ

เบน โกลด์เอเคอร์
สิงหาคม ค.ศ. 2011

[ก] การแพทย์ทางเลือก ซึ่งเน้นธรรมชาติบำบัดด้วยการกระตุ้นให้ร่างกายผู้ป่วยเยียวยาตัวเองตามหลักตาต่อตาฟันต่อฟัน กล่าวคือให้ผู้ป่วยใช้ยาทที่ทำด้วยสารทจะก่อให้เกิดอาการนั้นๆ  ในคนปกติ  ตัวอย่างการแพทย์แบบโฮมิโอพาทีย์ในประเทศไทยในอดีต ได้แก่ การใช้การบูรรักษาอหิวาตกโรคในสมัยรัชกาลที่ 5

เพิ่มเติมใน: ข้อมูลอ้างอิง (คำนิยม)

ถัดไป: คำนิยม โดย นิก รอส