แค่การศึกษาเดียวจะพอไหม

ดาวน์โหลดในรูปแบบ pdf: แค่การศึกษาเดียวจะพอไหม

คำตอบง่ายๆ คือ “มักไม่พอ” น้อยครงทการเปรียบเทียบวิธีการรักษาอย่างเที่ยงธรรมเพียงเรื่องเดียว ให้หลักฐานที่เชื่อถือได้พอนำมาใช้ตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาได้ แต่ก็เป็นไปได้ในบางกรณี หนึ่งในการศึกษาหายากเหล่านี้พิสูจน์ว่าการใช้แอสไพรินในช่วงที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร [1] อีกการศึกษาหนึ่งชี้ชัดว่าการให้สเตียรอยด์ในคนที่สมองบาดเจ็บเฉียบพลันคร่าชีวิตได้ (ดูด้านล่างและบทที่ 7) และการศึกษาที่สามพบว่าคาเฟอีนเป็นยาชนิดเดียวที่พิสูจน์ได้ว่าป้องกันสมองพิการในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดาหนด (ดูบทที่ 5) แต่ปกติการศึกษาเดี่ยวๆ ก็เป็นเพียงหนึ่งในการเปรียบเทียบมากมาย ซึ่งตอบคำถามเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน จึงควรประเมินหลักฐานที่ได้จากแต่ละการศึกษาร่วมกับการศึกษาอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน

ออสติน แบรดฟอร์ด ฮิลล์ นักสถิติชาวสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการตรวจสอบวิธีการรักษาอย่างเที่ยงธรรม กล่าวในทศวรรษ 1960 ว่ารายงานวิจัยควรตอบคำถาม 4 ข้อ

  • ทำไมจึงเริ่มทำ
  • ทำอะไรบ้าง
  • พบอะไรบ้าง
  • แล้วสิ่งที่พบแปลว่าอะไร

ทำไมจึงเริ่มทำ

“แทบไม่มีหลักการใดที่เป็นรากฐานของการวิจัยเชิงคลินิกในทางวิทยาศาสตร์และความถูกต้องทางจริยธรรม ยิ่งกว่าการที่การศึกษาควรตอบคำถามที่เป็นประโยชน์

อ่านต่อ.

ทุกวันนี้ คำถามสำคัญเหล่านี้ยังตรงประเด็นดังเดิม แต่หลายครั้งไม่มีการตอบให้ชัดเจนหรือโดนละเลย คำตอบของคำถามสุดท้ายที่ว่า แล้วสิ่งที่พบแปลว่าอะไร สำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการรักษาและงานวิจัยในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่นการให้สเตียรอยด์ที่ราคาย่อมเยาในระยะสั้นแก่หญิง ที่คาดว่าจะคลอดก่อนกำหนด การตรวจสอบวิธีการรักษานี้อย่างเที่ยงธรรมครั้งแรกรายงานผลในปี ค.ศ. 1972 พบว่าทารกมีแนวโน้มจะเสียชีวิตน้อยลงหลังจากแม่ได้รับสเตียรอยด์ 10 ปีถัดมามีการทดลองเพิ่มหลายครั้ง แต่เป็นการศึกษาขนาดเล็กและผลจากแต่ละการศึกษาก็สับสน เพราะไม่มีการศึกษาใดรวบรวมการศึกษาใกล้เคียงที่มีอยู่ก่อนอย่างเป็นระบบเลย ทั้งที่ถ้าทำจะเห็นชัดว่าปรากฏหลักฐานชัดเจนที่สนับสนุนว่ายามีประโยชน์ อันที่จริง เนื่องจากไม่มีการรวบรวมจนปี ค.ศ. 1989 ระหว่างนั้นสูตินรีแพทย์ ผดุงครรภ์ กุมารแพทย์ และพยาบาลทารกแรกเกิด จึงไม่รู้ว่าวิธีการรักษานี้มีประสิทธิผลสูงมาก ทำให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดหลายหมื่นรายต้อง ทุกข์ทรมานและเสียชีวิตด้วยเหตุไม่สมควร [2]

การจะตอบคำถามว่า “แล้วสิ่งที่พบแปลว่าอะไร” ต้องแปลผลหลักฐานที่ได้จากการเปรียบเทียบวิธีการรักษาอย่างเที่ยงธรรมหนึ่งๆ ร่วมกับหลักฐานจากการเปรียบเทียบอย่างเที่ยงธรรมเรื่องอื่นที่คล้ายคลึงกัน การรายงานผลการตรวจสอบครั้งใหม่ โดยไม่แปลผลร่วมกับหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผ่านการทบทวนอย่างเป็นระบบแล้ว อาจชะลอการแยกแยะวิธีการรักษาที่มีประโยชน์ หรือโทษและทำให้เกิดการศึกษาโดยไม่จำเป็น

ถัดไปการทบทวนหลักฐานที่เชื่อถือได้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเป็นระบบ